เคาะผังเมืองนครสวรรค์31พ.ค. เซ็นทรัล จ่อผุด ห้าง-รร.-คอนโด รับ 
Loading

เคาะผังเมืองนครสวรรค์31พ.ค. เซ็นทรัล จ่อผุด ห้าง-รร.-คอนโด รับ 

วันที่ : 31 พฤษภาคม 2564
เซ็นทรัล บุกลงทุน ห้างโรบินสัน-โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ -คอนโด หลัง ปรับผังเมืองนครสวรรค์ 31 พฤษภาคม 2564
          ผังเมืองเตรียมปรับพื้นที่เทศบาลเมืองจากสีส้มเป็นสีแดง พัฒนารับเมืองศูนย์รวมโลจิสติกส์ระบบราง ด้านทุนใหญ่ "เซ็นทรัล" บุกลงทุน "ห้างโรบินสัน-โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ -คอนโด ปักธงก่อสร้างหลังประชุมผังเมืองครั้งสุดท้าย 31 พ.ค. 64 นี้

          นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้อนุมัติปรับผังเมืองจากสีส้มเป็นสีแดง บริเวณเขตเทศบาลเมืองนครสวรรค์ ซึ่งจะทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเปลี่ยนเป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ สร้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต่าง ๆ ได้ โดยล่าสุดมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ได้มีการยื่นขออนุญาตลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้าโรบินสัน โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และคอนโดมิเนียม บนพื้นที่ดินเก่าซึ่งเคยเป็น ที่ตั้งของโรงแรมพิมาน อยู่ติดกับสถานีขนส่งเมืองนครสวรรค์ ตอนนี้ทางเซ็นทรัลได้ดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายหลังจากการประชุมผังเมืองครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นี้

          "ในอนาคตจังหวัดนครสวรรค์จะเป็นเมืองศูนย์รวมโลจิสติกส์ระบบราง โดยมีโครงการขนส่งระบบรางเส้นหลัก สำคัญ ๆ วิ่งเข้าสู่เมืองนครสวรรค์ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ 2 สาย และโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยโครงการทั้งหมดจะเพิ่มประชาชนที่เดินทางเข้ามาในเมืองมากขึ้น ดังนั้น เพื่อรองรับการเดินทางทางเทศบาลเมืองนครสวรรค์จึงมีแนวคิดในเรื่องการขนส่งระบบรางเชื่อมโยงการขนส่งระบบล้อ จากสถานีรถไฟ-บขส.เมืองนครสวรรค์ รวมถึงการพัฒนาสถานีขนส่งเมืองนครสวรรค์และบริเวณโดยรอบ

          เพื่อรองรับความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบริเวณโดยรอบสถานีขนส่ง มองว่าควรมีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้มีความทันสมัย ตอนนี้ได้มีการหารือกับฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย เพื่อออกแบบศูนย์การค้าบริเวณโดยรอบสถานีให้เป็นพื้นที่ค้าขายสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ส่วนพื้นที่ในสถานีขนส่งถึงแม้จะเป็นของกรมธนารักษ์ แต่มีการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ให้ทางเทศบาลเป็นผู้ดูแล ซึ่งต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดรับกับการสร้างห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ซึ่งทางเทศบาลจะต้องเปิดสัมปทานให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาพัฒนา

          "ปัญหาคือมีสถานีขนส่งมานานกว่า 40 ปี โครงสร้างเดิมเป็นพื้นที่รองรับรถโดยสารแบบสมัยเก่า พื้นที่เสื่อมโทรมเพราะบริเวณสถานีล้อมรอบไปด้วยตึกห้องแถวเก่า ๆ เนื่องจากนครสวรรค์มีการพัฒนาเมืองในรูปแบบ charter จึงมีแนวคิดว่าหากมีการสร้างเซ็นทรัลควรมีการพัฒนาบริเวณสถานีขนส่ง มีการออกแบบทำเป็นมิกซ์ยูส ร้านค้าบริเวณสถานีขนส่งสามารถเข้าไปอยู่ในตัวอาคารได้ ขณะเดียวกัน ที่อยู่อาศัยควรเปลี่ยนเป็นคอนโดฯ ออกแบบให้ทันสมัยเพื่อเชื่อมกับระบบรางในอนาคต"

          นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่กังวลคือเรื่องของเงินลงทุน ซึ่งได้มีการหารือกับนายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ และประธานกฎบัตรนครสวรรค์ โดยจะเปิดสัมปทานหาผู้ลงทุนและเก็บค่าเช่าจากการดำเนินการ แต่ตอนนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการออกแบบว่าจะสามารถเชิญชวนนักลงทุนได้หรือไม่

          ในอนาคตมองว่าการใช้รถยนต์จะน้อยลง เนื่องจากนครสวรรค์มีการพัฒนาระบบราง เมื่อมีการขนส่งระบบรางที่ดีประชาชนจะหันมาใช้บริการมากยิ่งขึ้น แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน

          ส่วนเรื่องฟีดเดอร์การเชื่อมต่อระบบรางกับระบบล้อ หากมีประชาชนเดินทาง มาที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ จำเป็นต้องมีรถสาธารณะเข้ามาที่สถานีขนส่ง ซึ่งภายในเมืองนครสวรรค์ต้องมีระบบการขนส่งที่ทันสมัยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การทำระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดมีปัญหาคือจำนวนผู้ใช้รถโดยสารมีไม่มากพอ จะมีผู้ใช้บริการเพียงช่วงเช้าและตอนเย็นเท่านั้น แต่ถ้าหากมีเส้นทาง เดินรถผ่านเขตชุมชนตลอดทั้งวันจะทำให้ประชาชนคุ้นชินกับระบบขนส่งมวลชน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากยิ่งขึ้น

          ปัจจุบันนายมารุต ศิริโก กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาโครงการได้เข้ามาสำรวจเมืองเพื่อวางเส้นทางของขนส่งสาธารณะเชื่อมระหว่างขนส่งระบบรางกับระบบล้อ โดยทางเทศบาลสามารถเข้าไปจัดการเรื่องของระบบฟีดเดอร์ได้ โดยจะใช้เป็นมินิบัสหรือสมาร์ทบัสด้วยค่าบริการไม่แพง ประชาชนหรือแรงงานขั้นต่ำสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ โดยเส้นทางเดินรถสาธารณะนั้นเจ้าของสัมปทานเดิมยินดีขายสัมปทานให้กับนักลงทุนที่สนใจ

          อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่ใช้รถสองแถววิ่งอยู่มี 4 เส้นทางหลัก ได้แก่ ถนนโกษีย์ ถนนอมราวิถี ถนนมาตุลี และถนนอรรถกวี เงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท ถ้ามีการเปิดสัมปทานคาดว่านักลงทุนน่าจะสนใจและกล้าลงทุน เพราะว่ามีสิทธิบัตร ในเรื่องของสัมปทาน ซึ่งจะสามารถกำหนด เส้นทางการเดินรถได้ทั้งเมือง
ข่าวอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาค อื่นๆ