โควิด-19ถล่มอสังหาฯอีอีซีสาหัสยอดค้างสต๊อก2.21แสนล้านบ.
Loading

โควิด-19ถล่มอสังหาฯอีอีซีสาหัสยอดค้างสต๊อก2.21แสนล้านบ.

วันที่ : 25 พฤษภาคม 2564
พิษ โควิด -19 ฉุดอสังหาอีอีซี ค้างสต๊อก 2.21 แสนล้านบาท
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ในปี 64 มีทิศทางชะลอตัวลงชัดเจนจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ทำให้ยอดขายหดตัวลงทั้งจำนวนและมูลค่า จนคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อกมากถึง 68,170 หน่วย มูลค่า 2.21 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้จังหวัดชลบุรีซึ่งมีจำนวนโครงการมากที่สุด คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยขายได้รวม 12,495 หน่วย ลดลง 11.7% และมูลค่า 140,348 ล้านบาท ลดลง 17.1% ส่งผลให้หน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี จะมีประมาณ 45,245 หน่วย เพิ่มขึ้น 6.6% มูลค่า 163,559 ล้านบาท ขณะที่หน่วยการโอนซื้อขายมีประมาณ 34,642 หน่วย เพิ่มขึ้น 18.3% คิดเป็นมูลค่า 74,699 ล้านบาท

          ส่วนจังหวัดระยองคาดจะมีหน่วยขายได้รวม 5,300 หน่วย ลดลง 15.4% และมูลค่า 12,211 ล้านบาท ลดลง 22.8% ส่งผลให้หน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี มีประมาณ 16,751 หน่วย ลดลง 0.1% มูลค่า 40,513 ล้านบาท ขณะที่การโอนซื้อขายมีประมาณ 10,429 หน่วย ติดลบ 13.3% คิดเป็นมูลค่า 20,068 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา คาดว่าจะมีหน่วยขายได้รวม 1,961 หน่วย ลดลง 15.1% และมูลค่า 5,344 ล้านบาท ลดลง 20.3% ส่งผลให้หน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี จะมีประมาณ  6,174 หน่วย เพิ่มขึ้น 15.1% มูลค่า 17,201 ล้านบาท โดยมีหน่วยการโอนซื้อขายประมาณ 3,762 หน่วย ลดลง 7.2% คิดเป็นมูลค่า 7,838 ล้านบาท

          นายวิชัย กล่าวว่า จากการประมวลผลภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ หากจะให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องชะลอการเพิ่มโครงการใหม่เข้ามาในตลาด และปรับรูปแบบที่อยู่อาศัยให้ตรงความต้องการ เปิดโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับกำลังซื้อเพิ่มขึ้น พร้อมกับเน้นการระบายสต๊อกที่เหลือค้างเก่า รวมถึงเสริมความพร้อมให้กับลูกค้าและเร่งการโอนกรรมสิทธิ์เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้มากขึ้น

          นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยเฉพาะการสร้างกำลังซื้อให้กับโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งต้องมีการขยายกลุ่มเป้าหมายในการสนับสนุนให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยอื่น ที่มีราคามากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป และยังรวมถึงกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติ ที่ยังเป็นผู้มีกำลังซื้อสูงอีกด้วย ขณะเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องลดเงื่อนไข หรือข้อจำกัดในการกู้ซื้อบ้าน เช่น การจัดตั้งกองทุนค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้ เป็นต้น