เอกชนแนะภาครัฐ ปิดจุดอ่อน อีอีซี เร่งแข่งเวียดนาม
Loading

เอกชนแนะภาครัฐ ปิดจุดอ่อน อีอีซี เร่งแข่งเวียดนาม

วันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2564
เอกชน เเนะรัฐ เร่งปิดจุดอ่อน ตลาด อีอีซี ห่วงเวียดนามเเซงหน้า
           "เอกชน" แนะรัฐเร่งแก้ จุดอ่อน"อีอีซี"   ชี้โครงสร้าง กพอ.ดันแผนพัฒนา ได้ไม่เต็มที่  "ผังเมือง" 30 อำเภอล่าช้ากระทบ ธุรกิจอสังหาฯ ห่วงรัฐอ่อนแรงชักจูงลงทุนปล่อยเวียดนามเร่งดึงบริษัทข้ามชาติ ชี้ "ซีพีทีพีพี" ดันเอฟดีไอเวียดนามทิ้งห่างไทย

          นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตต่อเนื่อง และมี นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 13 เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ถึง 1 ก.พ.2564 ได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจ 5 ปี เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยเปิดประเทศให้เข้าลงทุนมากขึ้น รวมทั้งแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคการลงทุน และ ให้แต่ละจังหวัดแข่งขันพัฒนาเศรษฐกิจทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

          สำหรับการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่อยู่บนยุทธศาสตร์ที่ดีและพร้อมด้านสาธารณูปโภค แต่ไทย เสียเปรียบในการอำนวยความสะดวกทำธุรกิจที่รัฐบาลเวียดนามทำได้มีประสิทธิภาพมาก และมีการติดตามผลที่ดี

          ส่วนการขับเคลื่อนจะมีคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กำกับดูแลตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก แต่มีข้อจำกัดด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งแม้ สกพอ.มีอำนาจพิเศษแต่การบริหารงานยังขึ้นกับกระทรวงต่างๆ ทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ล่าช้าหรือขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้เรื่องนี้ ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามให้ผู้ว่าแต่ละจังหวัดมีอำนาจเต็มที่ส่งเสริมให้แข่งขันกันทำงาน และรัฐบาลกลางเป็นผู้ตรวจสอบประสิทธิภาพ จึงทำงานได้รวดเร็ว

          แหล่งข่าวจากนักลงทุนในเวียดนาม กล่าวว่า อีอีซีมีกฎหมายรองรับการพัฒนา โดย กพอ.มีกรรมการที่เป็นรัฐมนตรีว่าการ 13 กระทรวง ใช้อำนาจกฎหมายที่เกี่ยวกับ การทำธุรกิจได้ 6 ฉบับ ในขณะที่ เลขาธิการ สกพอ.ใช้อำนาจกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนได้ 8 ฉบับ แต่ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนส่วนใหญ่ยังพึ่งกลไกกระทรวง

          รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของไทยมีเพียงหน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้ออกประกาศ และให้สิทธิประโยชน์ในอีอีซีสูงกว่าพื้นที่อื่นทำให้เพิ่มอีกไม่ได้แล้ว จึงยากที่จะเพิ่มมาตรการชักจูงการลงทุนแข่งเวียดนาม รวมทั้งไม่กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ออกกฎระเบียบเพื่อดึงการลงทุนได้

          แนะเร่งแก้จุดอ่อนบุคลากร

          นอกจากนี้ อุปสรรคการลงทุนอีกข้อในอีอีซี คือ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมีจำกัด เช่น ช่างเทคนิค ซึ่งทำให้บริษัทขนาดใหญ่ไม่มาลงทุนได้มากเพราะอุตสาหกรรมเป้าหมายจะใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เร่งผลักดันโครงการผลิตบุคลากรช่างเทคนิคชั้นสูงจำนวนมาก แต่การประชาสัมพันธ์ให้บริษัทต่างชาติยังไม่ทั่วถึง

          รวมทั้งบุคลากรระดับวิศวกรและอาชีวศึกษาไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยนักศึกษาที่จบทำงานในโรงงานไม่ได้ทันทีต้องอบรมเพิ่ม โดยไทยควรร่วมกับ สถาบันความร่วมมือต่างชาติผลิตบุคลากร  เช่น สถาบันไทย-เยอรมัน ควรร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพื่อผลิตช่างเทคนิค รองรับอุตสาหกรรมจากเยอรมนี ส่วนสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ผลิตบุคลากร รองรับการลงทุนจากญี่ปุ่น เพื่อนักลงทุนได้ บุคลากรตามต้องการทั้งจำนวนและคุณภาพ

          "รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดสถาบันความร่วมมือกับต่างชาติให้ครอบคลุมชาติใหญ่ๆ ที่เข้ามาลงทุนทั้งหมดและให้สถาบันเหล่านี้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักลงทุนของแต่ละชาติ เพื่อกำหนด เป้าหมายจำนวนบุคลากร ทักษะเฉพาะทางและภาษา ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละชาติ จะเป็นแรงดึงดูดสำคัญให้ชาติที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้เข้ามาลงทุนไทย"

          ดูบทเรียนเวียดนามดึงซัมซุง

          นอกจากนี้ ต้องการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ดูแล สกพอ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกไปดึงบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงด้วยตัวเอง และมีความถี่เพิ่มขึ้น ซึ่งแม้มีโควิด-19 แต่เวียดนามดึงซัมซุงมาลงทุนได้ โดยรองนายกรัฐมนตรีเวียดนามเจรจาผู้บริหารซัมซุงหลายครั้ง และแก้ปัญหาให้ซัมซุงจนพอใจและย้ายฐานการลงทุนใหญ่จากจีนไปเวียดนามเมื่อปี 2563

          ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลการลงทุนของไทยควรดำเนินงานตามแนวทางนี้ โดยมีคณะรองนายกรัฐมนตรีเจรจารายบริษัท เพราะมีหลายปัญหาที่หน่วยราชการไม่สามารถแก้ไขได้ลำพังจึงควรมีผู้กำกับดูแลส่วนงานที่เกี่ยวข้องไปสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน รวมทั้งในปัจจุบันมีช่องทางในการสื่อสารออนไลน์ได้และไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง

          ผังเมืองล่าช้ากระทบอสังหาฯ

          แหล่งข่าวจากภาคธุรกิจอสังหาฯ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ในขณะนี้กรมโยธาธิการ และผังเมืองเร่งทำผังเมืองระดับจังหวัดและอำเภอรวม 30 อำเภอในอีอีซี แต่ที่ประกาศออกมาให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง เพราะถนนสายใหม่ที่จะตัดในอีอีซีได้ตัดผ่านชุมชนเป็นจำนวนมาก

          ทั้งนี้ประเด็นที่สำคัญ คือ เขตถนน เส้นใหม่เหล่านี้ไม่มีกรอบเวลาการก่อสร้างที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ไม่กล้าที่จะลงทุนโครงการใหม่ๆ จึงทำให้ โครงการพัฒนาเมืองใหม่ๆ ไม่คืบหน้าเท่าที่ ควร คงมีเพียงการลงทุนอสังหาฯแถบชานเมืองที่ไม่ได้รับผลกระทบจากผังเมืองใหม่ ซึ่งหาก สกพอ.มีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการตัดถนนเส้นใหม่เหล่านี้ ก็จะทำให้การลงทุนอสังหาฯในอีอีซีขยายตัวเร็ว

          แนะเพิ่มข้อตกลงการค้า-ลงทุน

          นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อตกลง การค้าเสรี (เอฟทีเอ) มี 2 ฉบับที่เวียดนามลงนามไปแล้วและทำให้ได้ประโยชน์แซงไทย คือ 1.ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) 2.เอฟทีเอเวียดนาม-สหภาพยุโรป (อียู) ทั้งนี้ เอฟทีเอเวียดนาม-สหภาพยุโรป (อียู) จะทำให้การส่งออกของเวียดนามห่างจากไทยเพิ่มอีก 2 เท่า ขณะที่เอฟดีไอ จะมีแนวโน้มมากกว่าไทยเพิ่มขึ้นอีก และ เวียดนามจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากอียูตามข้อตกลง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเติมเต็มให้อุตสาหกรรมเข้มแข็งขึ้น คือ 1.อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร 2.ระบบโลจิสติกส์ 3.อุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะนำเทคโนโลยียุโรปมาพัฒนาแบรนด์รถยนต์ของเวียดนามเอง

          "ซีพีทีพีพีทำให้เวียดนามห่างไกลไทย ไปอีก ผมไม่ได้บอกให้เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่อยากบอกว่าการเข้าร่วมซีพีทีพีพี ของเวียดนามได้ประโยชน์มาก"
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ