โควิด-19 ทุบตลาดอสังหาใต้ภูเก็ตเจ็บเหลือขายมากสุด
Loading

โควิด-19 ทุบตลาดอสังหาใต้ภูเก็ตเจ็บเหลือขายมากสุด

วันที่ : 16 พฤศจิกายน 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย ข้อมูลผลสำรวจภาคใต้ ตลาดอสังหาฯ ภูเก็ตกระทบหนัก จากวิกฤตไวรัส โควิด -19
วิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคใต้ ภูเก็ตเจ็บหนักสุดเหลือขายมากสุด เผยที่ผ่านมาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหวังพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก ยอดขายลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 ของปี 2563

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ภาพรวมที่อยู่อาศัย จ.ภูเก็ต ในช่วงครึ่งแรกของ 2563 ว่า มีที่อยู่อาศัยทั้งหมด อยู่ที่ 8,984 ยูนิต มากที่สุดในภาคใต้ที่มีซัพพลายทั้งหมด 17,087 ยูนิต โดย 5 อันดับแรกที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุดกระจุกตัวอยู่ใน จ.ภูเก็ตทั้งหมด ประกอบด้วย 1. หาดบางเทา-หาดสุรินทร์1,886 ยูนิต 2. เทพกษัตรี-ศรีสุนทร 1,461 ยูนิต 3. หาดในยาง-หาดไม้ขาว 1,362 ยูนิต 4. เกาะแก้ว-รัษฎา 1,042 ยูนิต และ 5. หาดกมลา 858 ยูนิต ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 3-5 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มที่อยู่อาศัยภาคใต้ในช่วงครึ่งหลังปี 2563 คาดว่าจะมีจำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17,688 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 84,285 ล้านบาท ภาคใต้ถือว่าเป็นภาคที่สถานการณ์หนักที่สุด เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ผ่านมาพึ่งพิงกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ธุรกิจอสังหาฯ จึงผูกกับกำลังซื้อของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และจังหวัดภูเก็ต หนักที่สุด เพราะ 90% ของระบบเศรษฐกิจพึ่งพาท่องเที่ยว

          นายบุญ ยงสกุล ประธานกรรมการ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด กล่าวว่า สมาคมอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างหนัก ภายหลังจากปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 วิกฤตครั้งนี้ถือว่ารุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตมากที่สุดในรอบหลายปี ทั้งนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจังหวัด มูลค่ารวม 4 แสนล้านบาท ต้องพึ่งพากับธุรกิจท่องเที่ยว ส่งผลกระทบคนซื้อบ้านต้องทิ้งดาวน์ และยอดปฏิเสธสินเชื่อสูง ผู้ที่ยื่นซื้อบ้านผ่านการอนุมัติแต่ละหน่วยจะยื่นคนที่ 3-4 จากเดิมคนที่ 2 ก็ผ่านการอนุมัติ ภาพรวมอสังหาจึงตกลง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3 ปีนี้

          “ภูเก็ตเจ็บหนักมาตลอดตั้งแต่ล็อกดาวน์ และยังไม่มีมาตรการใดๆ เข้ามา มีเพียงแต่ข่าวการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแต่ในสุดก็ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน จึงควรใช้วิกฤตครั้งนี้พลิกฟื้นจังหวัดภูเก็ตใหม่ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพวิกฤตโควิดจึงต้องรีโพสิชันภูเก็ต มีจุดขายที่โดดเด่นนอกเหนือจากการท่องเที่ยวคือเมดิคัล ฮับ รองรับคนที่อยากมีสุขภาพดีไม่ว่าจะสูงอายุหรือไม่จะได้มาพักระยะยาว ซึ่งได้เชื่อมต่อกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเข้ามาร่วมในการสร้างบุคลากรที่เข้ามารองรับในปีหน้า"

          นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการอสังหาฯ จากกรุงเทพฯ ที่เข้าไปลงทุน จ.ภูเก็ตวิเคราะห์ว่า หลังจากเกิดโควิด-19ตลาดอสังหาฯ ในภูเก็ตได้รับผลกระทบที่พึ่งพานักท่องเที่ยวภายในประเทศไม่เพียงพอ เพราะมีจุดอ่อนด้านการเดินทางห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 8 ชั่วโมงต่างกับพัทยา หัวหิน เขาใหญ่ที่ใช้เวลาเดินทางไม่นาน การท่องเที่ยวในภูเก็ตน่าเริ่มกระเตื้องจากการที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเดินเข้ามาสัมมนาในภูเก็ตแทนการเดินไปต่างประเทศที่ยังเดินทางไม่ได้ ที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ผู้ประกอบการต้องยอมลดราคาลงมาให้กับกลุ่มลูกค้าไทยมากกว่าครึ่ง แต่ก็ยังเป็นจุดอ่อนในการต้องเดินผ่านทางสายการบินเท่านั้น แม้ว่าราคาที่พักจะถูกก็ยังมีอุปสรรคการเดินทาง

          “ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายพยายามที่จะดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมในโครงการด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่เข้า ครม.สัญจรที่มีเรื่องของศูนย์กลางทางการแพทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา หรือ เมดิคัล ฮับ ในภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาล ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ ที่มีมูลค่า 1,300 ล้านบาท ในรูปแบบรัฐร่วมทุนเอกชน หรือ PPP ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีการสอนแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับนโยบายดังกล่าว” นายอิสระ กล่าว