สมคิด ดึงสหรัฐลงทุนอีอีซี ดันไอเดีย ซิลิคอนวัลเลย์
Loading

สมคิด ดึงสหรัฐลงทุนอีอีซี ดันไอเดีย ซิลิคอนวัลเลย์

วันที่ : 3 กรกฎาคม 2563
ดึง มะกัน ลงทุน อีอีซี ผุด ซิลิคอน วัลเลย์
         "สมคิด" กล่อมทูตสหรัฐ ลงทุนไทย ขยายซัพพลายเชน ย้ำไทยโดดเด่น ภาคการผลิต ตลาดเงิน ตลาดทุน พร้อม ให้ทำแพ็คเกจส่งเสริมจากบีโอไอ ผุดไอเดียซิลิคอนวัลเลย์ในอีอีซี
ไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (2 ก.ค.) และได้หารือ การเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับไทย

          สมคิด กล่าวว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐได้พัฒนากรอบแนวคิดบางอย่างในการสร้างความร่วมมือในการลงทุนระหว่างกันมาเสนอ ให้พิจารณาว่าอุตสาหกรรมอะไรบ้างที่จะต่อยอดความร่วมมือกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย

          "ผมได้เสนอไปว่าให้สหรัฐโฟกัสที่ประเทศไทยเป็นพิเศษ เพราะเรามั่นใจว่าในขณะนี้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ CLMVT ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน"

          นอกจากนี้ ในปี 2564 จะเป็นปีที่โครงการ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศไทยจะยิ่งมี ความโดดเด่น

          ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทย มีความแข็งแรงและมีความน่าดึงดูดไม่แพ้ ตลาดสิงคโปร์ โดยเฉพาะเมื่อไทยมีความเชื่อมโยง กับตลาดหุ้นของฮ่องกงและเสิ่นเจิ้นในจีน จะทำให้ไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น จึงเป็น เหตุผลที่สหรัฐควรจะให้ความสำคัญในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นลำดับแรก นอกจากนี้ได้ชี้แจงบอกกับเอกอัครราชทูตสหรัฐว่าประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาคบริการและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งไทยสนใจที่จะให้สหรัฐ มาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในซิลิคอนวัลเลย์ จึงได้เสนอให้สหรัฐทำแพ็คเกจมาเสนอขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ซึ่งรวมทั้งบริษัท สตาร์ทอัพ สถาบันวิจัย และสถานศึกษา โดยไทย จะให้การส่งเสริมการลงทุนได้ทั้งมาตรการทางภาษีและการส่งเสริมผ่านกองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

          "ได้บอกกับเขาว่าเราจะเป็นฐานทั้งศูนย์กลางการผลิต ภาคบริการ และภาคการเงิน ของภูมิภาคได้ รวมทั้งในส่วนของการบริการ ทางการแพทย์ ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านนี้ จึงอยากให้สหรัฐเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ทางเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย"

          ไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร กล่าวว่า ได้หารือว่าไทยและสหรัฐจะมีความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะ ในด้านการลงทุนซึ่งในมุมมองของนักลงทุนสหรัฐ มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเนื่องจากมองว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสามารถที่จะเป็นที่ตั้งของซัพพลายเชนสหรัฐได้  "ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่าไทยสามารถเป็น ส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนการผลิตของอุตสาหกรรมได้ ซึ่งคาดว่าจะมีการย้ายฐาน การผลิตเข้ามายังไทยมากขึ้น รวมถึงบริษัทและอุตสาหกรรมของสหรัฐด้วยซึ่งก็พร้อมที่จะ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อไป"  รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า การส่งเสริม การลงทุนธุรกิจดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล  ได้นำร่องตั้งโครงการ Thailand Digital Valley@Digital Park Thailand  อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 30 ไร่ เป็นฮับธุรกิจดิจิทัลอีกแห่งของไทย และอาเซียน นอกเหนือจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งมีธุรกิจดิจิทัลกระจุกอยู่มาก

          Thailand Digital Valley ยังทำหน้าที่ เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาเมืองเป็น Smart City และเพิ่ม ประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมและบริการ ในอีอีซี รวมทั้งช่วยเร่งให้การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitization) ของผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เร็วขึ้น

          สำหรับดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เติบโตก้าวกระโดดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเป็น เทคโนโลยีสำคัญที่ยกระดับอุตสาหกรรมอื่น โดยช่วงปี 2558-2562 มีคำขอรับการส่งเสริม การลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล 990 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 40,000 ล้านบาท และปี 2562 มียอดคำขอในอุตสาหกรรมดิจิทัล 185 โครงการ มูลค่าการลงทุน 9,000 ล้านบาท

          โครงการเฟส 1 ส่วนอาคารสำนักงานและ Intelligent Operation Center กำลังเดินหน้า พัฒนา ซึ่งมีพื้นที่รองรับผู้ประกอบการ ดิจิทัล 600 ตารางเมตร ในส่วนนี้บีโอไอร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เชิญชวนสตาร์ทอัพให้เข้ามาตั้งกิจการ ในอาคารนี้ก่อน โดยระยะแรกเน้น กลุ่มสตาร์ทอัพในภาคตะวันออก และ กลุ่มสตาร์ทอัพอื่นที่จะมาช่วยพัฒนาโซลูชั่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาของเมือง หรือแก้ปัญหาของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และบริการในภาคตะวันออก

          ส่วนอาคารถัดไป คือ Digital Knowledge  Exchange Center ขนาด 4.5 พันตารางเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนก.พ. 2564 บีโอไอกับ DEPA จะขยายเป้าหมายการ เชิญชวนนักลงทุนในวงที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก (Tech Companies) เช่น Huawei, Google, Microsoft และบริษัทขนาดใหญ่และกลางที่ต้องการสร้างนวัตกรรม ให้เข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพไทยด้วย

          ทั้งนี้ การดึงดูดผู้ประกอบการและกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาตั้งกิจการในพื้นที่ Thailand Digital Valley บีโอไอได้กำหนด สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนในอีอีซี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 2 ปี เพิ่มเติมจากการยกเว้นภาษีเงินได้ 5-8 ปี และหากพัฒนาบุคลากรไทยตามเงื่อนไข จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 3 ปี รวมเป็นการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ทั้งหมด 5 ปี

          นอกจากนี้ ยังชูจุดขายอื่นๆ ของพื้นที่ เช่น ระบบนิเวศของธุรกิจดิจิทัลที่มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า การพัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีความท้าทาย และโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับนวัตกรและบริษัทชั้นนำ จากทั่วโลก

          อีกทั้งยังจะมีโอกาสร่วมมืออย่างใกล้ชิด กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และผู้ประกอบการ ในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณติดกัน ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อีกด้วย
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ