5 เดือนตั้งบริษัทใหม่ใน อีอีซี ลดวูบ
วันที่ : 30 มิถุนายน 2563
ร้านอาหาร-ภัตตาคารหดชี้เอกชนรอดูสถานการณ์
พาณิชย์เผยตัวเลขลงทุนใหม่ในอีอีซี 5 เดือนแรกเหลือ 2,731 ราย ลดลง 13.35% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และนายหน้าอสังหาฯ ติดท็อปทรีเปิดใหม่มากสุด ส่วนร้านอาหาร ภัตตาคาร เปิดเพิ่มน้อยสุดจากปัญหาโควิด-19 ชี้เอกชนกำลังรอดูสถานการณ์ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงยอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือนม.ค.-พ.ค. 2563 ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ประกอบด้วย เขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง พบว่า จัดตั้งธุรกิจใหม่ รวม 2,731 ราย ลดลง 13.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว มีจำนวน 3,152 ราย ทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 6,790 ล้านบาท ลดลง 18.32%
ประเภทธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ 443 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,413 ล้านบาท รองลงมาคือก่อสร้างอาคารทั่วไป 202 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 321 ล้านบาท และตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ 124 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 369 ล้านบาท
ปัจจุบันพื้นที่อีอีซี มีนิติบุคคลจำนวน 74,073 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,959,310 ล้านบาท ธุรกิจส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจบริการ คิดเป็น 60.90% และเป็นธุรกิจ SMEs คิดเป็น 98.09%
ด้านการลงทุนของต่างชาติในนามนิติบุคคลไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 788,156 ล้านบาท คิดเป็น 40.22% ของมูลค่าทุนทั้งหมด ญี่ปุ่นมีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด คิดเป็น 48.10% มูลค่าทุน 379,135 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน มีสัดส่วน 10.63% มูลค่าทุน 83,767 ล้านบาท และสิงคโปร์ 5.49% มูลค่าทุน 43,235 ล้านบาท ลงทุนในจ.ระยองสูงสุด 418,340 ล้านบาท ชลบุรี 288,052 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 87,763 ล้านบาท
"ทิศทางการจดทะเบียนลดลงสอดคล้องกับภาพรวมการจดทะเบียนของประเทศ ธุรกิจที่ลดลงได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร การขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่รอดูสถานการณ์และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐคาดว่าการจดทะเบียนทั้งปีจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้องรอดูสถานการณ์ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย" นายวุฒิไกร กล่าว
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ