ศูนย์ข้อมูลฯห่วงอสังหาฯภาคเหนือ สต๊อกเหลืออื้อดูดซับน้อยแนะลงทุนระมัดระวัง
Loading

ศูนย์ข้อมูลฯห่วงอสังหาฯภาคเหนือ สต๊อกเหลืออื้อดูดซับน้อยแนะลงทุนระมัดระวัง

วันที่ : 10 มิถุนายน 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผย อสังหาฯ ภาคเหนือ ชะลอตัว
         ศูนย์ข้อมูลฯ เผย 4 จังหวัดภาคเหนือ โครงการเปิดขาย 17,843 หน่วย อัตราดูซับน้อย แนะลงทุนอย่างระมัดระวัง ด้านผู้ประกอบการเผยตลาดชะลอตัวตั้งแต่ปี 61-62 แถมถูกโควิด-19 ซ้ำเติม วอนรัฐช่วยกระตุ้นคนซื้อบ้านทุกกลุ่ม

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่จังหวัดสำคัญของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และตาก โดยนับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย พบว่า มีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายจำนวน 17,843 หน่วย แบ่งเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 11,465 หน่วย เชียงราย 3,009 หน่วย, พิษณุโลก 2,595 หน่วย และตาก 774 หน่วย

          ในจังหวัดเชียงใหม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่น้อยมาก ส่งผลให้มีโครงการอยู่ระหว่างการขายรวมทั้งสิ้น 221 โครงการ รวม 11,465 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 42,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ 7 แบ่งเป็นอาคารชุด 2,582 หน่วย และบ้านจัดสรร 8,883 หน่วย ประมาณการว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวน 9,343 หน่วย ประกอบด้วยอาคารชุด 2,050 หน่วย บ้านเดี่ยว 4,321 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 1,814 หน่วย บ้านแฝด 1,025 หน่วย และอาคารพาณิชย์ 133 หน่วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราดูดซับที่ขยับขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในครึ่งหลังปี 2562 หากจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดตามที่ศูนย์ข้อมูลประมาณการไว้ ภายใต้เงื่อนไขกำลังซื้อที่ลดต่ำลงเช่นในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะเหลือประมาณสูงสุดไม่เกินร้อยละ 1.6

          "จากการสำรวจจะพบว่าที่อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ ตลาดหลักยังคงเป็นอาคารชุดพักอาศัย บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ เป็นหลัก ซึ่งทำเลสารภี และ หางดง มีอัตราดูดซับที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีสินค้าใหม่เข้ามาในตลาดน้อยมาก และกลุ่มราคาที่ขายได้ดี จะอยู่ใน 2  กลุ่มระดับราคา คือ 2-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท  แต่กลุ่มระดับราคาดังกล่าวก็เป็นกลุ่มที่มีหน่วยสร้างเสร็จเหลือขายอยู่จำนวนมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการทำการตลาด" ดร.วิชัย กล่าว

          สำหรับจังหวัดเชียงราย ศูนย์ข้อมูลฯสำรวจภาคสนามโครงการที่อยู่อาศัยครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอหลัก ประกอบด้วยอำเภอเมืองเชียงราย เชียงแสน แม่สาย และเวียงชัย  ภาพรวมครึ่งหลังปี 2562 มีอยู่อาศัยเหลือขายจากครึ่งปีแรกจำนวน 1,811 หน่วย และมีหน่วยเปิดขายใหม่อีกจำนวน 1,239 หน่วย  ส่งผลให้ ณ ครึ่งหลังปี 2562 มีที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งสิ้น 61 โครงการ รวม 3,009 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร จำนวน 2,946 หน่วย อาคารชุด 63 หน่วย

          ทั้งนี้ มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขาย ณ ครึ่งหลังปี 2562 จำนวน 449 หน่วย มูลค่า 1,528 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีหน่วยสร้างเสร็จเหลือขายมากที่สุดในทำเลในเมืองเชียงราย จำนวน 292 หน่วย และทำเลสนามบิน-ม.แม่ฟ้าหลวง จำนวน 112 หน่วย แม้ว่าทั้งสองทำเลจะเป็นทำเลที่ขายได้สูงสุดแต่ด้วยอัตราดูดซับที่ต่ำจึงยังคงเป็นทำเลที่ต้องระมัดระวังในการลงทุน  อย่างไรก็ตามประมาณการว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวน 2,919 หน่วย อัตราดูดซับจะเหลือในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1

          ในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก สำรวจเพียงพื้นที่เดียวคืออำเภอเมือง โดยมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดเพียง 180 หน่วยเท่านั้น ส่งผลให้มีจำนวนที่อยู่อาศัยเสนอขายมีจำนวน 2,595 หน่วย และมีหน่วยเหลือขายจำนวน 2,461 หน่วย โดยในครึ่งหลังปี 2562 อัตราดูดซับปรับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และคาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะเหลือประมาณร้อยละ 1.1

          สำหรับจังหวัดตาก สำรวจในพื้นที่อำเภอเมืองตาก และแม่สอด โดยมีที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขาย ณ ครึ่งหลังปี 2562 จำนวน 774 หน่วย ในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวน 745 หน่วย อัตราการดูดซับลดต่อลงต่อเนื่องจากปี 2561 จากร้อยละ 1.2 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะลงมาในระดับสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.5 ในกลุ่มของบ้านเดี่ยว

          "ภาพรวมของตลาดภาคเหนือ เนื่องจากกลุ่มจังหวัดที่ทำการสำรวจ 4 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลกและตาก เป็นพื้นที่ซึ่งเศรษฐกิจหลักอ้างอิงกับธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าขายชายแดน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องปี 2563 จึงได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือมีหน่วยเหลือขายค่อนข้างมากขณะที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้หน่วยเหลือขายในปี 2562 กลายมาเป็นหน่วยตั้งต้นของปี 2563 เมื่อได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กำลังซื้อของคนในพื้นที่ลดลง แรงกระตุ้นจากคนนอกพื้นที่ก็หายไป เช่นเดียวกับกำลังซื้อของชาวต่างชาติ ทั้งหมดนี้มีผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์ใน 4 พื้นที่ดังกล่าว และจะมีผลโดยตรงให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ลดลงไปด้วย" ดร.วิชัย กล่าว