ชงชะลอเก็บ ภาษีที่ดิน ธุรกิจผวาซ้ำเติมโควิด
Loading

ชงชะลอเก็บ ภาษีที่ดิน ธุรกิจผวาซ้ำเติมโควิด

วันที่ : 16 เมษายน 2563
เอกชน ชง คลังมหาดไทย ชะลอเก็บภาษีที่ดิน หวั่นทุบซ้ำธุรกิจอสังหาฯ
          ภาคเอกชน ชง คลังมหาดไทย ชะลอเก็บภาษีที่ดิน หวั่นทุบซ้ำธุรกิจอสังหาฯ คนซื้อบ้าน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถานบริการ เผย เดือนมิถุนายน ท้องถิ่นออกบิลเรียกเก็บภาษีตามมูลค่า สิงหาคม ต้องควักจ่าย

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบให้หลายธุรกิจล้มตาย คนตกงานจำนวนมาก อย่างท่องเที่ยวอุตสาหกรรมด่านหน้า เมื่อทั่วโลกหยุดเดินทาง ประกอบกับโรคร้ายในประเทศรุนแรงขึ้น รัฐบาลสั่งปิดสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า การกำหนดเวลาเข้าออกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวหลังความรุนแรงเริ่มปรากฏชัด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ประเมินว่าหากไม่สามารถหยุดโรคร้ายลง ระยะยาวจะมีคนไร้ที่พึ่งไม่มีงานทำ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน สิ่งที่ตามมาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งคนผ่อนบ้าน อีกทั้งธุรกิจร้านรวงโรงแรมต่างๆ สร้างความเสียหายมหาศาลต่อเศรษฐกิจประเทศ

          ขณะทุกธุรกิจหยุดเดินทว่ากฎระเบียบต่างๆ ยังเดินต่อ อย่างภาษีที่ดินที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา แม้การเรียกเก็บภาษีจะเลื่อนออกไป จากความไม่พร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่เป็นที่แน่นอนว่า เดือนมิถุนายนนี้ ใบแจ้งภาระภาษีจะถึงมือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย

          กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เดินทางยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลัง ขอผ่อนผันกฎระเบียบ ที่อาจทุบทำลายซ้ำไวรัส อย่างการขอเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ท้องถิ่นจะออกใบเรียกเก็บภาษีในเดือนมิถุนายน และให้ชำระเงินภายในเดือนสิงหาคม นี้ออกไปก่อน

          ทั้งนี้นาย อธิป พีชานนท์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบ ต่อธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ค่อนข้างมาก กำลังซื้อหายไปจากตลาด ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ขณะท้องถิ่นจะเรียกเก็บภาษีที่ดินในเร็วๆ นี้

          ทางออกได้เสนอขอผ่อนปรนรัฐ ขอเลื่อนการชำระภาษีที่ดินออกไปก่อน เนื่องจากบริษัท ห้างร้าน โรงแรมต่างๆ ต่างได้รับผลกระทบ ขณะธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์หากมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่มาก จะเสียภาษีหมวดพาณิชย์ เช่นเดียวกับบ้านหลังที่ 2  บ้านปล่อยเช่า แม้จะลดภาษีเสียเท่ากับอัตราที่อยู่อาศัย มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ประชาชนตาสีตาสา ผู้ครอบครองที่ดิน นส.3 นส.3กทั่วประเทศกว่า 1 ล้านล้านราย (หนังสือรับรองการประโยชน์ในที่ดิน แต่มีเพียงสิทธิครอบครองไม่มีกรรมสิทธิ์) สร้างที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร จะต้องเสียภาษีที่ดินตั้งแต่บาทแรก ตามมูลค่าทรัพย์สิน เนื่องจากกฎหมายระบุเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ไม่สามารถครอบครองได้ อย่างโฉนด นอก จากจะเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังเกิดความเหลื่อมล้ำ แม้แปลงที่ดินที่ตั้งอยู่ติดกันก็ตาม อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐจะเลื่อนการจัดเก็บออกไป เพราะที่ผ่านมายังเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง

          นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐช่วยผ่อนปรน เกี่ยวกับการขยายวีซ่า 1 ปี สำหรับลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะจีนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทย และอยู่ระหว่างรอโอน มูลค่ารวมกัน 5 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อให้เกิดการจูงใจ เช่นเดียวกับการขอขยายมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง ที่จะหมดอายุลงกลางปีและปลายปีนี้ให้ขยายต่อเนื่อง รวมทั้งการผ่อนปรน มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีแอลทีวี

          นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า นอกจากเสนอรัฐเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินออกไปจนกว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้นแล้ว ยังขอให้เลื่อนการใช้หลักเกณฑ์สินเชื่อใหม่ หรือแอลทีวี ธนาคารแห่งประเทศไทยออกไปก่อนเพื่อลดผลกระทบ

          เช่นเดียวกับนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า นอกจากกำลังซื้อคนไทยแล้ว ลูกค้าชาวจีนหายไปจากตลาด จากการหยุดเดินทาง อย่างไรก็ดีมั่นใจว่าสถานการณ์โรคระบาดจะจบได้ภายในไตรมาส 2 นี้

          "ขอเลื่อนการชำระภาษีที่ดินออกไปก่อนเนื่องจากบริษัทห้างร้านโรงแรมต่างได้รับผลกระทบ"
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ