ไวรัส6ด.ท่องเที่ยวเจ๊งล้านล.
Loading

ไวรัส6ด.ท่องเที่ยวเจ๊งล้านล.

วันที่ : 16 มีนาคม 2563
ท่องเที่ยวส่อเจ๊งยาว หลังโดนผลกระทบไวรัส
          นายกธุรกิจทัวร์ประเมินสมคิดดึงลงทุนสวนสนุกในอีอีซี-ทำแบบดิสนีย์ฯสภาอุตฯเกาะติดสถานการณ์โควิด-19 คาดลากยาวถึงปี'64

          ส.อ.ท.เกาะติดโควิดส่อยาวถึงปี64

          เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ว่า ขณะนี้มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้คาดการณ์ตรงกันว่าผลกระทบ จากการระบาดโรคโควิด-19 จะยาวจนถึงปี 2564 ดังนั้น ส.อ.ท.จะติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด

          นายเกรียงไกรกล่าวว่า ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย  หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย ส.อ.ท.ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรม สำรวจทั้งหมด 45 กลุ่มพบว่ามี 12 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ และที่หนักสุด คือ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมี ชิ้นส่วน และอะไหล่รถยนต์ เครื่องสำอาง โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม หัตถกรรมสร้างสรรค์ โรงเลื่อย โรงอบไม้ ไม้อัดไม้บาง อัญมณีและเครื่องประดับ เทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร และสมุนไพร เนื่องจากผู้ประกอบการมียอดขายลดลง รวมทั้งยังมีอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไปยังจีนล่าช้า และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

          เอกชนสุดทนจี้ปรับครม.ใหญ่

          รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจเอกชนจำนวนมากแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หรืออยู่ในภาวะขาดความเชื่อมั่น ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากไม่เกิดการจับจ่ายใช้สอย โดยภาคเอกชนหลายคนเห็นตรงกันว่าการจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ในขณะนี้ คือ รัฐบาลต้องเร่งปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องปรับครั้งใหญ่  ดึงบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาบริหารงานในหลายตำแหน่ง และต้องดึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจตรง กับงานเข้ามาทำหน้าที่

          สทน.คาดท่องเที่ยวสูญ1ล้านล้าน

          นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่สามารถควบคุมได้ จากเดิมประเมินไว้เบื้องต้นว่าภายในเดือนเมษายนนี้ น่าจะสามารถควบคุมได้และอยู่ในวงจำกัดแล้ว แต่ขณะนี้การแพร่ระบาดดูเหมือนทวีความรุนแรงขึ้น จึงมองว่าโควิด-19 จะสร้างผลกระทบยาวไปถึงไตรมาส 2 ของปีนี้

          "ประเมินเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เงียบเหงามาก แม้ภาครัฐจะขอความร่วมมือกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ แต่ดูจะเป็นไปได้ยาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่กังวลติดเชื้อ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 100% แล้ว นักท่องเที่ยวไทยจะหายไป 60% สูญเสียรายได้ในภาคการท่องเที่ยวกว่า 5 แสนล้านบาท เป็นเม็ดเงินที่จะหายไปในช่วงไตรมาสแรกของปีเท่านั้น แต่หากกินเวลาไปถึงสงกรานต์ และล่วงเลยไปทั้งไตรมาส 2 จะทำให้เม็ดเงินสูญหายไป 2 เท่า ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทแน่นอน" นายภูริวัจน์กล่าว

          รอสัญญาณแบงก์ปล่อยกู้

          นายภูริวัจน์กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาของภาครัฐที่ออกมา ส่วนใหญ่เป็นมาตรการการเงิน ถือว่าออกมาใช้ได้ แต่ต้องดูเนื้อหาและรายละเอียดว่าภาคการท่องเที่ยวได้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้มากน้อยเท่าใด และภาครัฐจะดำเนินการประสานกับบรรดาธนาคารพาณิชย์ได้รวดเร็วขนาดไหน ขณะนี้รอให้ภาครัฐกระจายเรื่องลงไปยังธนาคารต่างๆ เพื่อให้หากเอกชนไปดำเนินการด้านการเงิน จะได้เข้าใจตรงกันและมีข้อมูลชุดเดียวกันทั้ง 2 ฝ่าย

          นายภูริวัจน์กล่าวว่า ในช่วงที่ยังไม่สามารถคุมโรคได้ อยากให้ภาครัฐหันมาฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด ทั้งแหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก และการขนส่งคมนาคมด้วย ต่อจากนั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาขับเคลื่อนรายได้ได้เหมือนเดิม

          บินไทยอ่วมลดเที่ยวบินกว่า30%

          แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม การบินไทยต้องลดเที่ยวบินกว่า 30% จากที่ทำการบินทั้งหมดทั่วโลก ปัจจุบันหยุดทำการบินใน 11 จุดบินหลักๆ และมีแนวโน้มจะปิดจุดบินเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ย 2,100-2,500 เที่ยวบินต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป มีความเป็นไปได้ต้องลดเที่ยวบินเพิ่มขึ้นไปอีกเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังรุนแรง จากเดิมในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีในเส้นทางยุโรปถือว่าเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และเป็นช่วงเทศกาลอีสเตอร์ของยุโรปช่วงดังกล่าวจะมีอัตราการบรรทุกปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางไปเส้นทางบินยุโรป 80%

          เคบินแฟกเตอร์ไม่ถึง50%

          แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนเส้นทางบินที่ยังทำการบินอยู่ ก็มีอัตราการบรรทุกปริมาณผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) ไม่ถึง 50% และหากสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก อัตราเคบินแฟกเตอร์อาจจะลดลงต่ำไปอีกแน่นอน

          นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสายการบินที่ทำการบินเข้าออกประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคมมีนาคม สายการบินขอยกเลิกเที่ยวบินรวมกว่า 9,700 เที่ยวบิน ผู้โดยสารหายไปกว่า 3 ล้านคน เมื่อพิจารณาภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในไทยพบว่าในปี 2563 จะมีผู้โดยสารเดินทางลดลงกว่า 8.7% จากปี 2562 จากที่มีผู้โดยสารเดินทางในเส้นทางบินระหว่างประเทศกว่า 88 ล้านคน จะเหลือเพียง 81 ล้านคน นอกจากนี้มองว่าหลังเดือนเมษายนเป็นต้นไปอุตสาหกรรมการบินจะได้รับผล กระทบมากกว่านี้แน่นอน

          จี้ใช้กองทุนหมู่บ้านสู้โควิด

          นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงการหารือร่วมกับนายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ว่า เป็นการหารือเพื่อดูแลสมาชิกกองทุนหมู่บ้านกว่า 13 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยตามนโยบายของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.เร่งรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนมีความรู้ความเข้าใจและใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส โควิด-19 2.รณรงค์ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านตระหนักถึงความจำเป็นการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 3.การนำระบบประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงตามความต้องการของชุมชน 4.ส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันภัยแก่ประชาชนที่เป็นสมาชิกของกองทุนหมู่บ้าน และ 5.การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้บริการด้านประกันภัย

          "มี 2 ประเด็นเร่งด่วน คือ มาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงให้แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกประเด็นคือ รณรงค์ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ได้ตระหนักถึงความจำเป็นการทำประกันภัยรถภาคบังคับ" นายสุทธิพลกล่าว

          'สมคิด'ปั้นดิสนีย์แลนด์ในอีอีซี

          นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่พิเศษในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ราชพัสดุหรือเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ

          "เบื้องต้นนายสมคิดมองไว้ว่าจะนำพื้นที่กรมธนารักษ์ที่จัดเตรียมไว้ไปสร้างสวนสนุก อาทิ ดิสนีย์แลนด์ เหมือนประเทศอื่นๆ เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก โดยเตรียมจะนำพื้นที่เหล่านี้ไปหารือกับนักลงทุนต่างชาติว่าสนใจจะเช่าพื้นที่เหล่านี้หรือไม่ หากมีสวนสนุกมาอยู่บนพื้นที่อีอีซีจริง จะทำให้เขตอีอีซี เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้เลย เพราะสามารถรองรับคนจากหลายช่องทาง อาทิ คนจากกรุงเทพฯ ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงมาเที่ยวได้อย่างสะดวก ส่วนในจังหวัดระยองจะมีเรือยอชต์หรือเรือสำราญ มาจอดที่ท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งยังมีเครื่องบินมาลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ดังนั้นคาดว่าภาคการท่องเที่ยวในเขตอีอีซีจะคึกคัก และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง" นายยุทธนากล่าว

          'ธนารักษ์'กัน5.4พันไร่ให้ลงทุน

          นายยุทธนากล่าวถึงการนำที่ดินราชพัสดุมารองรับการลงทุนในอีอีซี ว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์ได้จัดหาพื้นที่ไว้ให้เอกชนมาลงทุนแล้ว จำนวน 5,400 ไร่ เป็นพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูง แบ่งเป็น พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราจำนวน 4,000 ไร่ จังหวัดชลบุรี 700 ไร่ และระยองอีก 700 ไร่ โดยพื้นที่ที่จัดหาไว้ทั้ง 3 จังหวัดนี้ เป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

          นายยุทธนากล่าวว่า สำหรับอัตราค่าเช่าในเขตที่ดินอีอีซี จะคิดค่าเช่าต่อปีในอัตรา 2% ของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีนั้นๆ โดยหลังจากเอกชนลงนามในสัญญาเช่าแล้วจะต้องจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าก่อน 3 ปีแรก รวมกับค่าธรรมเนียมของราคาประเมินที่ดิน หลังจากนั้นถึงจะเก็บค่าเช่าในอัตราก้าวหน้า

          จ่อเลิกผลิต'โซฮอล์91'1มิ.ย.

          นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้เตรียมความพร้อมประกาศกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 (เบนซินผสมเอทานอล 20%) เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ เบื้องต้นคาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อยกระดับราคามันสำปะหลังและอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาผลิตเอทานอล หลังจากกระทรวงพลังงานได้ประกาศให้น้ำมันดีเซลบี10 (ดีเซลผสมบี100 จำนวน 10%) เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อสนับสนุนราคาปาล์มน้ำมัน

          น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดี ธพ. กล่าวว่า ธพ.ได้หารือกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปแนวทางการกำหนดแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานและการลดประเภทชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซินลง ซึ่งที่ประชุมได้ข้อยุติแล้วว่าจะยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ส่วนระยะเวลาการประกาศนั้น จะต้องเสนอให้นายสนธิรัตน์เป็นผู้พิจารณากำหนด

          แหล่งข่าวจาก ธพ. กล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้สรุปกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันเลิกการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2563 จากนั้นผู้ค้าน้ำมันจะมีเวลาปรับตัวในการยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในสถานีบริการน้ำมัน โดยจะมีผลในวันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป

          จับตาโมลาสต่ำกระทบอี20

          นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าและผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานเอทานอล 26 แห่งมีการ ผลิตเอทานอลประมาณ 1,600 ล้านลิตรต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตจริงมีสูงถึง 2,200 ล้านลิตรต่อปี แต่ปีนี้ปริมาณอ้อยของไทยมีผลผลิตลดต่ำ ทำให้กากน้ำตาล (โมลาส) เพื่อผลิต เอทานอลลดตามไปด้วย จากการหารือร่วมกับภาครัฐจะมีการยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในวันที่ 1 กันยายนนี้ มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนหากใช้วิธีการบริหารจัดการด้านราคา

          "ปัจจุบันราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เพียง 27 สตางค์ต่อลิตร คนยังใช้แก๊สโซฮอล์ 91 พอสมควร และอี20 เองแม้จะถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ถึง 3 บาทต่อลิตร คนจำนวนหนึ่งก็ยังไม่มาเติม ดังนั้นเมื่อเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 จึงมองว่าการใช้เฉลี่ยจะไม่ได้ต่างไปจากเดิม คนส่วนหนึ่งก็จะใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และอีกส่วนก็จะไปใช้ อี20 และรัฐสามารถใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาดูแลในเรื่องราคาได้ หากช่วงใดที่เกรงว่าเอทานอลจะตึงตัวก็ไม่ต้องส่งเสริมด้านราคาให้ต่ำเกินไปเพื่อดูสมดุล" นายพิพัฒน์กล่าว

          กสทช.ลุ้นจัด'เทเลคอมเวิลด์'

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ จะมีการหารือกับนายฮูลิน ซาว เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เพื่อรายงานความคืบหน้าหลังจากเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5จี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอันดับต้นๆ ที่จัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5จี ในรูปแบบบริการเชิงพาณิชย์โดยสมบูรณ์

          "ด้วยศักยภาพดังกล่าวของประเทศไทย จะเสนอให้ไอทียูมีมติให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานไอทียู เทเลคอม เวิลด์ 2021 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 หากมีมติเห็นชอบจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป" นายฐากรกล่าว

          แนะค่ายมือถือใช้5จีบูมศก.

          นายฐากรกล่าวว่า จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 3-4 เดือนนี้จะยัง คงซบเซาต่อเนื่อง แต่จากรายงานของแอพพลิเคชั่นพฤติมาตรของสำนักงาน กสทช. พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ประชาชนมีการใช้งาน 4 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ไลน์ และยูทูบ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 266.43% ถัดมาคือ ไลน์เพิ่มขึ้น 154.26% ขณะที่ การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ผ่าน 3 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ ลาซาด้า ช้อปปี้ และแกร็บ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยช้อปปี้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 478.59% รองลงมาคือ ลาซาด้า ซึ่งเพิ่มขึ้น 121.52%

          "ดังนั้น ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องเร่งเปิดให้บริการ 5จี เชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว เพราะด้วยศักยภาพของ 5จี ที่ให้ความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที จะช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานเชิงพาณิชย์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี จะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะนี้ เพื่อชดเชยบางเซ็กเตอร์ที่ชะลอตัวลง" นายฐากรกล่าว
ข่าวอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาค อื่นๆ