ทุ่ม 1.3 แสนล.มอเตอร์เวย์ EEC-โคราช ปตท.เนรมิตที่ดิน 100 ไร่วังจันทร์วัลเล่ย์ขึ้นมิกซ์ยูส
Loading

ทุ่ม 1.3 แสนล.มอเตอร์เวย์ EEC-โคราช ปตท.เนรมิตที่ดิน 100 ไร่วังจันทร์วัลเล่ย์ขึ้นมิกซ์ยูส

วันที่ : 16 มีนาคม 2563
ปตท.เปิดหน้าดิน 100 ไร่ พัฒนาโปรเจ็กต์ มิกซ์ยูส มูลค่า 1,000 ล้าน
          ปตท.เปิดหน้าดิน 100 ไร่ ด้านหน้าวังจันทร์วัลเล่ย์ ติดถนนบ้านบึง-แกลง ปล่อยเช่ายาว 30 ปี พัฒนาโปรเจ็กต์ มิกซ์ยูส มูลค่า 1,000 ล้าน ดึงโรงเรียนนานาชาติ บริติช ปัญญาดี สมุยลงทุน ผุดศูนย์ประชุม โรงแรม อพาร์ตเมนต์ โคเวิร์กกิ้งสเปซ ตลาดนัดชุมชน จ่อหารือภาครัฐสปีดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ลุยรถเมล์ไฟฟ้า สร้าง "bus stop" หน้าโครงการ เชื่อมการเดินทาง กรมทางหลวงทุ่มกว่า 1.3 แสนล้าน ตัดมอเตอร์เวย์ 6 สายรองรับ EEC

          นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมและนายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี เปิดเผยว่า หลัง บมจ.ปตท.นำที่ดิน 3,500 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนสาย 344 บ้านบึง-แกลง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ภายใต้โครงการ วังจันทร์วัลเล่ย์ พัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)

          แบ่งการพัฒนาพื้นที่มีโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ขณะนี้กำลังเดินหน้าลงทุนพัฒนาบริเวณทางเข้า เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ กำลังก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม และตลาดนัดชุมชน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียน บ้านวิทย์สิรินธรด้วย

          "ที่ผ่านมาคนอาจจะไม่เห็นภาพของโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ใน 3 จังหวัด ซึ่งโครงการ EECi ที่ ปตท.ลงทุนจะเป็นโครงการแรกที่จับต้องได้ โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเมืองวิจัยนวัตกรรมของประเทศ"

          เปิด 100 ไร่พัฒนาเชิงพาณิชย์

          นางเบญญาภรณ์ จารุจินดา ผู้อำนวยการ โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทั้งโครงการคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งในส่วนของ ปตท. และนักลงทุนรายอื่น ประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาพัฒนาตั้งแต่ปี 2562-2567 ซึ่ง ปตท.เป็นผู้บริหารพื้นที่ และเปิดให้บริษัทที่สนใจลงทุนเช่าพื้นที่พัฒนาระยะยาว 30 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับธุรกิจและมูลค่าการลงทุน

          โดยแบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 2 เฟส ในเฟสแรกปี 2562-2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ จะแล้วเสร็จภายในปี 2563 มีอาคารศูนย์ปฏิบัติการ และระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนนและทางจักรยานภายในโครงการ ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะ ซึ่ง ปตท.ดำเนินการเอง ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท

          นักลงทุนไทย-เทศสนใจเพียบ

          นอกจากนี้ยังมีลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท พัฒนาที่ดินบริเวณด้านหน้ากว่า 100 ไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์ อยู่ระหว่างออกแบบดำเนินการโดยบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) บริษัทลูก ของ ปตท. บริการพื้นที่เช่าให้กับแต่ละ ธุรกิจ จะมีโรงเรียนนานาชาติ มีทาง โรงเรียนนานาชาติ บริติช ปัญญาดี เกาะสมุยที่ตกลงจะเช่าพื้นที่แล้ว, อพาร์ตเมนต์ 600 ห้อง ให้เช่าอยู่ระยะสั้น และระยะยาว จะแล้วเสร็จปลายปี 2564, ศูนย์ประชุม, โรงแรม, สำนักงานเป็นแบบโคเวิร์กกิ้งสเปซ, อินโนเวชั่น โชว์รูมรองรับการสัมมนา อบรม, ตลาดผลไม้และสินค้าโอท็อป พื้นที่ค้าขายสำหรับชุมชน

          ยังมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ลงทุน 4,000 ล้านบาท พัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุน มีกลุ่มจีอี หัวเว่ย และชไนเดอร์ สนใจลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

          นางเบญญาภรณ์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งที่อยู่ ใกล้กับโครงการ จากการติดตามแผนงาน ทางภาครัฐ เช่น กรมทางหลวง มีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายชลบุรี-จันทบุรี และหน่วยงานท้องถิ่นมีแผนจะพัฒนารถเมล์ไฟฟ้าหรืออีวี จะมีสถานีจอด ที่หน้าโครงการ เชื่อมการเดินทางไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูง จะต่อขยายจากอู่ตะเภา-ระยอง-ตราด ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งโครงการไม่มาก

          สร้างมอเตอร์เวย์บูมอีอีซี

          แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตามแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ กรมมีแผนจะดำเนินการ ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ในพื้นที่อีอีซี 6 โครงการ เงินลงทุนรวม 137,100 ล้านบาท ได้แก่ สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงินลงทุน 20,200 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมทดลองเปิดบริการในเดือน พ.ค. และเปิดเต็มรูปแบบในเดือน ก.ค.นี้ สายชลบุรี-นครราชสีมา บนถนน 354 ช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ระยะทาง 117 กม. เงินลงทุน 28,000 ล้านบาท

          สายชลบุรี-นครราชสีมา ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 171 กม. เงินลงทุน 37,000 ล้านบาท สายชลบุรีตราด ช่วงชลบุรี-แกลง ระยะทาง 94 กม. เงินลงทุน 22,000 ล้านบาท สายชลบุรี- ตราด ช่วงแกลง-ชลบุรี ระยะทาง 116 กม. วงเงินลงทุน 27,400 ล้านบาท และสร้างทาง ต่างระดับบ้านเก่า วงเงิน 2,500 ล้านบาท
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ