คณิศ ดันลงทุนอีอีซี เซ็น อู่ตะเภา เม.ย.นี้
Loading

คณิศ ดันลงทุนอีอีซี เซ็น อู่ตะเภา เม.ย.นี้

วันที่ : 17 กุมภาพันธ์ 2563
สกพอ.เร่งเครื่องดันลงทุน "อีอีซี" จ่อเซ็นสัญญา"อู่ตะเภา"เม.ย. ออกแบบไฮสปีดเทรนเสร็จ ต.ค.นี้ ชี้ถึงเวลา เร่งลงทุนภาคเอกชน เตรียมแผนโรดโชว์สหรัฐ-ญี่ปุ่น-เกาหลี
          สกพอ.เร่งเครื่องดันลงทุน  "อีอีซี" จ่อเซ็นสัญญา"อู่ตะเภา"เม.ย. ออกแบบไฮสปีดเทรนเสร็จ ต.ค.นี้  ชี้ถึงเวลา เร่งลงทุนภาคเอกชน เตรียมแผนโรดโชว์สหรัฐ-ญี่ปุ่น-เกาหลี ทำงานคู่ขนานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน หนุนระเบียงผลไม้ ดึงอีคอมเมิร์ซสร้างอาชีพ หวังผู้มีรายได้น้อย 3.5 แสนคน พ้นยากจน

          การผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2563 ถูกกำหนดแนวทาง 2 ส่วน คือ 1.การผลักดันการลงทุนในอีอีซีทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนภาคเอกชน 2.การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนใน 3 จังหวัด เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการพัฒนา

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ภาครัฐจะเร่งผลักดันการลงทุนเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศรับทราบความคืบหน้า การลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการประกาศใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ผังเมืองอีอีซี) ไปเมื่อเดือน ธ.ค.2562

          นายคณิศ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมี การลงทุนในภาคเอกชนจึงถึงเวลาที่ต้องที่ต้องผลักดันเรื่องนี้ และปีนี้จะผลักดัน เรื่องนี้มาก จะไปโรดโชว์ดึงการลงทุน จากต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน โดยที่ผ่านมาได้หารือเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุนกับ ต่างชาติ เช่น องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เสนอให้ แก้ปัญหาวีซ่า และใบอนุญาตทำงานของนักธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งภาครัฐจะเข้าไปหาทางแก้ไขเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา

          ทั้งนี้ มีการประเมินการลงทุนในอีอีซีเฉลี่ยปีละ 300,000 ล้านบาท รวม 5 ปี มีการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนประมาณ 1 ล้านล้านบาท เช่น การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง การลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะและอสังหาริมทรัพย์

          เริ่มสร้างไฮสปีดเทรนปี64

          สำหรับความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลัก 6 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ซึ่งการส่งมอบยังเป็นไปตามแผน ในขณะที่ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เชื่อมสามสนามบิน จำกัด จะออกแบบเสร็จในเดือน ต.ค.2563 และเริ่มก่อสร้างในปี 2564

          2.โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วและจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด กำลังเสนอวิธีการก่อสร้างให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณา

          จ่อเซ็นสัญญาอู่ตะเภา เม.ย.

          3.โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กลุ่ม บีบีเอส ยื่นข้อเสนอให้รัฐดีที่สุด คาดว่า จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ให้ความเห็นชอบ มี.ค.นี้ และลงนามสัญญาร่วมลงทุนภายใน เม.ย.นี้

          4.โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้ดำเนินการเชิญกลุ่มจีพีซีมาชี้แจงรายละเอียดค่าลงทุนก่อสร้างไปพลางก่อน แต่ยังไม่เพิ่มเจรจา ข้อเสนอผลตอบแทนภาครัฐ เพราะต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

          "เอ็มอาร์โอ-อีอีซีดี"คืบหน้าช้าสุด

          5.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กำหนดให้แอร์บัสยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ซึ่ง คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้รับทราบความเห็นของ แอร์บัสที่มีต่อเอกสารการคัดเลือกเอกชนแล้ว พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานรับซอง คณะทำงานประเมินข้อเสนอและคณะทำงานเจรจาสัญญาแล้ว

          6.โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม (อีอีซีดี)กำลังแก้ไขเอกสารคัดเลือกเอกชน คาดว่าจะประกาศเชิญชวนและขายซองได้ภายในเดือน ก.พ.นี้

          จัดแผนหนุนเศรษฐกิจชุมชน

          นายคณิศ กล่าวว่า เมื่อการลงทุน ในอีอีซีมีความคืบหน้ามากแล้ว ขณะนี้ สกพอ. เตรียมดำเนินการลงพื้นที่และพัฒนาชุมชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสร้างรายได้ให้เข้าถึงชุมชน โดยมี แผนงานสำคัญ คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายลด ผู้มีรายได้น้อยให้หมดภายใน 3 ปี จากปัจจุบันอีอีซี มีประชากร 3.4 ล้านคน อยู่ในวัยการศึกษา 1.2 ล้านคน และวัยทำงาน 2.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง 350,000 คน ซึ่งจะลดผู้มีรายได้น้อยให้หมดภายใน 3 ปี

          ทั้งนี้ การดำเนินการจะมีการพัฒนาอาชีพเฉพาะกลุ่ม รวมถึงจัดหางานในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการจัดหางานให้ผู้สูงอายุ

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาร่วมดำเนินการเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนลดลง

          รวมทั้งนายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะทำโครงการบัณฑิตอาสา เพื่อ แก้ปัญหาผู้จบปริญญาตรี 30% ไม่มีงานทำ โดยจะมีการจ้างมาทำงานให้รัฐ 1 ปี เริ่มต้นครั้งแรกปี 2563 รับ ผู้จบมาแล้ว 1-3 ปี จำนวน 100 คน ใช้งบประมาณของ สกพอ. ซึ่งจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ และ เมื่อผ่านงานนี้จะเป็นบุคลากรที่มีความพร้อมในการทำงานกับ อปท.

          ดันระเบียงผลไม้ตะวันออก

          นายคณิศ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจะมีการ ยกระดับโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) เป็นโครงการหลักของอีอีซี ซึ่งช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงาน หลักในการดำเนินงาน แต่หลังจากนี้ สกพอ.และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) จะเข้าไปร่วมดำเนินการด้วย เพื่อให้โครงการมีแรงขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง อบจ.ระยอง ได้จัดเตรียมพื้นที่ 23 ไร่ ที่ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เป็นที่ตั้งหลักของโครงการ

          สำหรับรูปแบบการทำงานได้หารือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อนำความเย็นจากแก๊สที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตของ ปตท. มาใช้ใน ห้องเย็น และให้เกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรส่งผลไม้ในพื้นที่ส่งผลไม้มา เพื่อเตรียมส่งออกผ่านสนามบินอู่ตะเภา

          จับมือเนเธอร์แลนด์ทำตลาดปลา

          จะมีการจัดทำตลาดปลาเพื่อเป็น แหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่จับได้ในพื้นที่ 2-3 แห่ง โดยจะเริ่มต้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งมีตลาดสดเก่าที่ เหมาะสมพัฒนาเป็นตลาดปลา เพราะที่ผ่านมาอีอีซีเป็นเมืองชายทะเล แต่ไม่มีตลาดปลา โดยจะร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์ที่มีการพัฒนาตลาดปลา ได้ดีมาพัฒนาตลาดปลาในอีอีซี เพื่อให้ ชาวประมงในพื้นที่นำปลามาจำหน่ายเรื่องนี้ได้เสนอ อบจ.ชลบุรี และ อบจ. ระยอง เพื่อให้ อปท.เข้ามาร่วมพัฒนา

          "ตลาดปลาจะได้ทั้งการสร้างพื้นที่จำหน่ายให้ชุมชน และยังเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวของเมืองชายทะเลเหมือนในต่างประเทศได้"

          ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา อาจจะไม่เหมาะสมที่จะสร้างตลาดปลา จึงมีการวางแผนที่จะทำตลาดผลไม้ เพื่อให้มีแหล่งจำหน่ายผลไม้สำหรับของฝากที่มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะร่วมมือกับ อบจ.ฉะเชิงเทรา ในการจัดหาพื้นที่พัฒนาตลาดผลไม้
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ