จีนสนสมาร์ทซิตี้ แปดริ้ว คณิศ เร่งคลอดทีโออาร์
Loading

จีนสนสมาร์ทซิตี้ แปดริ้ว คณิศ เร่งคลอดทีโออาร์

วันที่ : 27 มกราคม 2563
แผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำหนดพื้นที่ชุมชนเมือง 5.18 แสนไร่ รองรับ การอยู่อาศัยบริเวณเขตเมืองริมชายฝั่งทะเลต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรม
          แผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำหนดพื้นที่ชุมชนเมือง 5.18 แสนไร่ รองรับ การอยู่อาศัยบริเวณเขตเมืองริมชายฝั่งทะเลต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรม ศูนย์กลางเมืองหลักระดับจังหวัด-อำเภอ และ เขตให้บริการของขนส่งมวลชน ได้แก่ พื้นที่ต่อเนื่องจากศูนย์กลางพาณิชยกรรม บริเวณด้านในถนนมอเตอร์เวย์ เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เทศบาลเมืองพนมสารคาม เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลนครระยองและพื้นที่โดยรอบกลุ่มเทศบาลเมืองต่างๆ

          รวมทั้งกำหนดพื้นที่ศูนย์กลาง พาณิชยกรรม 96,795 ไร่ ใช้เป็น ศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลัก เพื่อส่งเสริมศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ นันทนาการและการท่องเที่ยวระดับประเทศ ภาค และนานาชาติ 6 เมือง คือ เมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี เมืองศรีราชา-แหลมฉบัง เมืองพัทยา เมืองอู่ตะเภา เมืองระยอง โดยพื้นที่ดังกล่าว เป็นการเตรียมเพื่อรองรับการพัฒนา เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ด้วย

          และจะมีพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง 4.63 แสนไร่ เพื่อรองรับการขยายตัว ของการอยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีบริเวณ ชานเมือง เป็นพื้นที่ต่อเนื่องชุมชนเมือง ได้แก่ พื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบศูนย์กลางหลักระดับอำเภอ และระดับเทศบาลตำบลต่างๆ

          คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ของอีอีซีใน จ.ฉะเชิงเทรา ตามแนวนโยบายของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการศึกษาและใกล้จะแล้วเสร็จ โดยระหว่างนี้จะจัดทำ ร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) ของโครงการควบคู่ไปกับการศึกษาโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลลงทุนในโครงการนี้

          ก่อนหน้านี้นายสมคิด ได้มอบหมายให้ สกพอ.เตรียมความพร้อมในการจัดทำโครงการและเปิดประมูลสมาร์ทซิตี้ในอีอีซี เพื่อให้เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการที่เป็น โครสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่อีอีซี 5 โครงการได้แก่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการเมืองการบินภาคตะวันออกและสนามบิน อู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงินลงทุน รวม 6.5 แสนล้านบาท

          การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีกลุ่มเอกชนจากประเทศจีน แสดงความสนใจ โดยมีแนวคิดที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial center) ซึ่งโครงการนี้จะผลักดัน เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ที่สามารถจะเปิดประมูล โครงการได้ภายในปี 2563 เนื่องจากมี ภาคเอกชนที่สนใจที่จะลงทุนอยู่แล้ว

          รวมทั้งต้องการให้ สกพอ.ทำให้มี ความชัดเจนในเรื่องของรูปแบบการพัฒนาเมือง มาตรการส่งเสริมการลงทุน นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และดูในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับลงทุนสร้างสมาร์ทซิตี้ เป็นศูนย์กลางทางการเงิน

          ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้ สกพอ.เร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการลงทุน ซึ่งน่าจะ เปิดประมูลได้ภายในปี 2563  รวมทั้งเร่งรัด การพัฒนาและลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และเขตนวัตกรรม ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ซึ่งแม้หลายกระทรวงดูแลแต่ต้องทำงานให้เกิด รูปธรรมไม่เช่นนั้นจะยุบรวมเข้ามาร่วมกัน

          นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สกพอ.ได้ไปโรดโชว์ เพื่อชักชวนต่างชาติการลงทุนสมาร์ทซิตี้ในอีอีซี เช่น จีน ญี่ปุ่น และมีความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศเพื่อร่วมกันศึกษาการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เช่น สำนักงานส่งเสริมการค้าและ การลงทุนแห่งเกาหลีใต้

          คณิศ กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีพื้นที่ในการพัฒนาโครงการนี้ ทั้งหมด 500 ไร่ โดยในส่วนของโครงการระหว่าง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะพัฒนาเป็น ศูนย์ซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Hangar) ซึ่งการบินไทยได้มีการแจ้งมาว่าจะได้ข้อสรุปโครงการนี้ประมาณเดือน ก.ค.2563 ซึ่งได้ขอให้ การบินไทยไปเร่งรัดให้เสร็จภายใน เดือน มิ.ย.เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

          ส่วนโครงการเอ็มอาร์โอในส่วนที่เหลือพื้นที่ 300 ไร่ จะเปิดประมูลให้กับภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนต่อไป ทั้งนี้จะเริ่มเห็นความชัดเจนของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในเอ็มอาร์โอมากขึ้นหลังวันที่ 30 ม.ค.นี้

          โดยคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ สนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภา จะประชุมกัน เกี่ยวกับผลการคัดเลือกภาคเอกชนที่จะเข้ามา ลงทุนโครงการนี้ ซึ่งจะมีผลต่อการให้บริการของสายการบินที่จะมาใช้สนามบินอู่ตะเภารวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องบิน และจะเข้ามา ลงทุนเอ็มอาร์โอในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาได้เช่นกัน โดยจะต้องมีการคำนวณถึงความเป็นไปได้ในส่วนของอัตราการเติบโตของ ผู้โดยสารกับการเพิ่มขึ้นในการเข้ามาใช้บริการ ของสายการบินจากสมมุติฐานจำนวน ผู้โดยสารที่ภาคเอกชนได้มีการคำนวณไว้

          สำหรับโครงการเอ็มอาร์โอในอีอีซีนั้น นับเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซี มีมูลค่าเงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 6,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนของภาครัฐโดยกองทัพเรือ ส่วนอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นการร่วมลงทุนระหว่างการบินไทยและแอร์บัส ซึ่ง กพอ.เห็นชอบตามที่การบินไทยเสนอใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้ วิธีประมูล เพื่อให้เดินหน้าโครงการได้เร็ว เพราะแผนพัฒนาอีอีซี (2560-2564) กำหนดระยะเวลาก่อสร้างเสร็จในปี 2564

          ทั้งนี้ โครงการเอ็มอาร์โอมีความล่าช้าในการดำเนินการมากเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่น เนื่องจากการเจรจาระหว่างการบินไทยกับแอร์บัสไม่ได้ข้อสรุป จึงยัง ไม่สามาถนำโครงการนี้เข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ได้
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ