เช็กบิลคอนโด9แสนยูนิต บี้ภาษีย้อนหลังแจ้งเท็จปล่อยเช่า
Loading

เช็กบิลคอนโด9แสนยูนิต บี้ภาษีย้อนหลังแจ้งเท็จปล่อยเช่า

วันที่ : 19 ธันวาคม 2562
ภาษีที่ดินฉุดรายได้ท้องถิ่น 3 พัน แห่งวูบ 1.3 หมื่นล้าน เหตุยกเว้นลดหย่อนสารพัด ดิ้นขอรัฐชดเชย ชี้ยืดชำระภาษีถึงสิ้น ส.ค. 63 พ่นพิษ "เศรษฐี กลุ่มทุน" สบช่องปรับ ที่ดินรกร้างทำเกษตร คอนโดฯ 9 แสนยูนิตวุ่น โดน กทม.ไล่เบี้ย ปล่อยเช่าแต่แจ้งเท็จเจอเช็กบิลย้อนหลัง
          ภาษีที่ดินฉุดรายได้ท้องถิ่น 3 พัน แห่งวูบ 1.3 หมื่นล้าน เหตุยกเว้นลดหย่อนสารพัด ดิ้นขอรัฐชดเชย ชี้ยืดชำระภาษีถึงสิ้น ส.ค. 63 พ่นพิษ "เศรษฐี กลุ่มทุน" สบช่องปรับ ที่ดินรกร้างทำเกษตร คอนโดฯ 9 แสนยูนิตวุ่น โดน กทม.ไล่เบี้ย ปล่อยเช่าแต่แจ้งเท็จเจอเช็กบิลย้อนหลัง

          แม้กระทรวงมหาดไทยจะขยายเวลาให้ผู้ถือครองที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ยื่นชำระภาษีได้ถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2563 จากเดิมต้องยื่นชำระภายใน 30 เม.ย. 2563 แต่แนวปฏิบัติในการบังคับใช้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ยังลักลั่นไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สับสน เนื่องจาก ช่วงนี้เป็นช่วงที่ อปท.ทั่วประเทศอยู่ระหว่างทยอยส่งแบบใบแจ้งรายการข้อมูลบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทางไปรษณีย์ถึงผู้ถือครองที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง พร้อมแจ้งให้ไปยื่นคำร้องแก้ไขรายการที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนกับท้องถิ่นภายใน 15 วัน ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายยุ่งยาก

          โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากผู้ถือครองคอนโดฯใน กทม. 9 แสนยูนิต ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ กทม.ส่งใบแจ้งรายการข้อมูลบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทางไปรษณีย์ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน จากที่ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีมาตรการบรรเทาภาระภาษี ยกเว้นจัดเก็บภาษีที่ดินบางประเภท จะทำให้ช่วง 3 ปีจากนี้ไป อปท.กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ 7,852 แห่ง มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง น้อยกว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท ที่น่าจับตาคือ อปท.หลายแห่งเริ่มเจอปัญหาเจ้าของที่ดินรกร้างปรับสภาพที่ดินมาใช้ประโยชน์ เพื่อเลี่ยงจ่ายภาษีในอัตราที่สูง โดยอาศัยจังหวะช่วง 4 เดือนที่ภาครัฐประกาศขยายระยะเวลาให้ยื่นชำระภาษี

          แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่า แม้รัฐบาลประกาศเลื่อนระยะเวลาการยื่นชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีก 4 เดือน เพื่อรอกฎหมายลำดับรอง แต่หน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศไม่ได้ชะลอแผนปฏิบัติงานที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ โดย อปท.ทั้ง 7,852 แห่งอยู่ระหว่างเร่งส่งใบแจ้งรายการข้อมูลบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ผู้อยู่ในข่ายต้องชำระภาษียื่นขอแก้ไขรายงานที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

          มหาดไทย-คลัง-กทม.ถกด่วน

          และเพื่อให้แนวปฏิบัติแต่ละท้องถิ่นเป็นไปในทางเดียวกัน วันที่ 20 ธ.ค.นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน อปท.ทั่วประเทศ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะจัดประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามกฎหมายใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยจะหารือถึงขั้นตอนการปฏิบัติที่ได้รับร้องเรียนว่า ก่อให้เกิดปัญหาความยุ่งยากกับประชาชนเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

          ท้องถิ่นรายได้วูบ 1.3 หมื่น ล.

          ทั้งนี้ จากที่ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประเมินรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่กฎหมายบังคับใช้ เบื้องต้น พบว่าจากจำนวน อปท.ทั่วประเทศ 7.8 พันแห่ง มี 1.4 พันแห่งจะมีรายได้ เพิ่มขึ้น อีกกว่า 3 พันแห่ง รายได้ลดน้อยลง ส่วน อปท.ที่เหลือกว่า 2 พันแห่ง กลุ่มที่มีรายได้ลดน้อยลงจะมีจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มที่จะมีรายได้ลดน้อยลงนั้น มี กทม.กับพื้นที่ปริมณฑล อาทิ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ รวมอยู่ด้วย เบ็ดเสร็จคาดว่ารายได้จากภาษีที่ดินฯจะลดน้อยลงกว่าที่เคยจัดเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง กับภาษีบำรุงท้องที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท จากปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ 32,953 ล้านบาท ภาษีบำรุงท้องที่ 1,086 ล้านบาท (ตาราง น.1)

          ลด-ยกเว้นภาษี 3 ปีฉุดรายได้หด

          สาเหตุหลักมาจากช่วง 3 ปีแรก ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค. 2565 กฎหมาย กำหนดให้มีมาตรการดูแลผลกระทบเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลายกลุ่ม อาทิ ยกเว้นจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรม บ้านหลังหลัก ทรัพย์สินของรัฐ ทรัพย์ส่วนกลาง ศาสนสมบัติ องค์กรระหว่าง ประเทศ รวมทั้งทรัพย์สินของเอกชน ที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ การลดหย่อน ภาษีให้กับสถานศึกษาเอกชน กิจการสาธารณะ เช่น กีฬา พิพิธภัณฑ์ บ้านมรดก ขณะเดียวกันก็มีมาตรการ ผ่อนปรน โดยช่วง 3 ปีแรกที่จัดเก็บภาษีที่ดินฯ ผู้ที่ต้องเสียภาษีมากขึ้น จากที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ จะได้รับการบรรเทาภาระภาษี โดยให้ทยอยเสียภาษี ในส่วนที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นปีแรก 25% ปีที่สอง 50% ปีที่สาม 75% จากนั้นในปีที่สี่ จึงจะให้ชำระภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นเต็ม 100%

          ของบฯฉุกเฉิน 1.3 หมื่นล้าน

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนรายได้ ท้องถิ่นกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่จะจัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินฯได้น้อยลงกว่าเดิม 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลต่อวงเงินงบประมาณในการพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการสร้างความเจริญภายในท้องถิ่น ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกระจายอำนาจที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา อาทิ ให้กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งงบฯเงินอุดหนุนชดเชย เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับท้องถิ่น ขออนุมัติงบฯกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งประสานงานไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขอกันเงินที่ปรับลดงบฯหน่วยงานราชการบางส่วนมาชดเชย เป็นต้น

          สบช่องปรับใช้ที่ดินเลี่ยงภาษี

          ขณะเดียวกันได้รับแจ้งจากกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นว่า อปท.ในพื้นที่หลายจังหวัดโดยเฉพาะแถบปริมณฑล อาทิ สมุทปราการ ปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี ฯลฯ เริ่มพบปรากฏการณ์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าถูกไถปรับสภาพหน้าดินใหม่ ปลูกไม้ยืนต้นอย่างมะม่วง หรือไม้ผล อื่น ๆ มากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อปท.เพิ่งส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพบว่าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า พร้อมแจ้งรายการข้อมูลบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ผู้ถือ ครองทราบแล้ว โดยจะแจ้งประเมินภาษี เป็นที่ดินประเภทรกร้างว่างเปล่า อย่างไรก็ตาม ผู้ถือครองที่ดินขอยื่นอุทธรณ์กับคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีระดับจังหวัด โดยแจ้งว่าเป็นที่ดินทำการเกษตร เพราะจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เป็นเศรษฐี กลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มทุน อาศัยช่วงรัฐขยายเวลายื่นชำระภาษี 4 เดือน ปรับเปลี่ยนสภาพที่ดินเพื่อเลี่ยงภาษี

          คอนโดฯ 9 แสนยูนิตแจ็กพอต

          ด้านความเคลื่อนไหวในการเตรียมการจัดเก็บภาษีที่ดินฯของ กทม. นายธรรมรัตน์ มุกมีค่า ผู้อำนวยการสำนักการ คลัง กทม. เปิดเผยว่า ในส่วนของ กทม. จากฐานข้อมูลในมือ แยกเป็นที่ดิน 2.08 ล้านแปลง บ้านตามทะเบียนราษฎรราว 2.89 ล้านหลัง และคอนโดฯกว่า 3,000 อาคาร หรือประมาณ 900,000 ยูนิต ขณะนี้ได้ให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ส่งหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของห้องชุด แต่ละคอนโดฯแล้ว กลุ่มแรกประมาณ 600,000 ยูนิตก่อน จากนั้นจะทยอยดำเนินการในช่วง 4 เดือนนับจากนี้ ก่อนทำการแจ้งประเมินภาษีและส่งแบบภาษีให้กับประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเดือน มิ.ย. 2563 ว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ เพื่อให้ชำระในเดือน ส.ค. 2563

          "เริ่มที่คอนโดฯก่อน เพราะมีข้อมูลที่กรมที่ดินส่งมาให้ น่าจะตรงกับ ข้อเท็จจริงที่สุด แต่ที่ผ่านมากรมที่ดินก็ไม่ได้อัพเดตข้อมูล เพราะมีการซื้อขายเปลี่ยนแปลงบางส่วน ต้องประชุมร่วมกับกรมที่ดินเพื่อให้ได้ข้อมูลที่อัพเดตที่สุด ดังนั้นช่วงนี้เป็นการเก็บรายละเอียด จากข้อโต้แย้งที่ประชาชนมาแจ้งในแต่ละเขต เช่น เป็นบ้านหลังหลัก บ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 หรือให้เช่า จะมีการเสียภาษีตามอัตราที่กำหนด อย่างเช่น บ้านหลังรอง จะเสียล้านละ 200-300 บาท/ปี แต่ถ้าให้เช่าจะคิดในอัตราประเภท พาณิชยกรรมล้านละ 3,000 บาท/ปี"

          จ้องรีดภาษีปล่อยเช่า

          อย่างไรก็ตาม ยากที่จะตรวจสอบว่า คอนโดฯแต่ละห้องปล่อยเช่าหรืออยู่อาศัยเอง ทาง กทม.ต้องเก็บข้อมูลตามที่ประชาชนโต้แย้งมา แต่ช่วงระหว่าง 4 เดือนนี้ อาจขอความร่วมมือจากนิติบุคคลของโครงการ ขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสุ่มตรวจห้องชุด หรืออาจหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถบังคับให้นิติบุคคลของโครงการส่งข้อมูลให้ กทม.ตรวจสอบต่อไป

          หากพบว่ามีการปล่อยเช่าจริง และมาแจ้งเท็จ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ที่ผ่านมา กทม.เคยสุ่มตรวจไปบ้าง โดยดูจากประกาศให้เช่าทางเว็บไซต์ แต่หลังทำหนังสือแจ้งให้เจ้าของคอนโดฯมา ตรวจสอบข้อมูลในแต่ละเขต พบว่า ทำให้มีการโอนย้ายทะเบียนบ้านกันจำนวนมาก เพื่อให้ได้สิทธิยกเว้นบ้านหลังหลัก ไม่เกิน 50 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนมีข้อกังวลว่าในกรณีถูกจัดเป็นประเภทอื่น ๆ หากไม่มาโต้แย้งจะต้องเสียภาษีประเภทพาณิชยกรรม 0.3% ต่อปี

          รายได้ไม่ถึงเป้า 1.4 หมื่นล้าน

          "กทม.ตั้งเป้าว่าจะเก็บรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มาทดแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุง ท้องที่ ประมาณ 14,000 ล้านบาท แต่จากปัญหาและมาตรการผ่อนปรน ต่าง ๆ คาดว่าอาจจะไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนจะได้เท่าไหร่น่าจะประเมินได้ในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2563 หลังจากที่ประชาชนได้ทำการโต้แย้งสิทธิ์ต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว หากเก็บไม่ถึงเป้าจะต้องหารายได้จาก ส่วนอื่นมาทดแทน เพราะจะขอ อุดหนุนจากรัฐคงไม่ได้ อาจจะปรับบริหารโครงการลงทุนใหม่ ลด เลิกบางโครงการ เป็นต้น"

          แห่โอน-ย้ายทะเบียนบ้านอุตลุด

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลัง กทม.มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของห้องชุดหรือคอนโดฯไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่แต่ละเขต พบว่ามีมาติดต่อที่สำนักงานเขตประมาณ 400 คน/วัน และมีการโอนเข้า-ออกทะเบียนบ้านจำนวนมาก เช่น เขตวัฒนา มีการมาโอนย้ายทะเบียนบ้านประมาณ 100-200 ราย/วัน ขณะที่ สำนักงานที่ดินก็มีประชาชนมาโอนกรรมสิทธิ์กันจำนวนมาก โดยต้องโอนให้เสร็จภายในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ ก่อนถึงกำหนดเวลา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ให้เริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563
 
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ