ครม.เคาะ ผังเมืองอีอีซี เปิดทางลงทุนนิคมฯใหม่
Loading

ครม.เคาะ ผังเมืองอีอีซี เปิดทางลงทุนนิคมฯใหม่

วันที่ : 7 พฤศจิกายน 2562
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศ 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
          คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศ 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ 1.ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

          2.ร่างประกาศ กพอ.เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3.รายการประกอบแผนผังท้ายประกาศดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดทำผังจังหวัดต่อไป

          นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ชี้แจงเรื่องผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในอีอีซีให้สาธารณะชนรับทราบต่อไป

          สำหรับสาระสำคัญของร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือ การกำหนดหลักการ ในการวางและจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดทำแผนผัง เพื่อส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการสาธารณูปโภค

          รวมทั้งกำหนดแผนผังและข้อกำหนดเกี่ยวกับแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินแผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง แผนผังระบบการ ตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย และกำหนดนโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองอีอีซี

          ส่วนสาระสำคัญของร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แบ่งผังเมืองอีอีซีตามการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการจัดทำร่วมกับคณะกรรมการอีอีซีและรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่โดยมีเป้าหมายในการรองรับการขยายตัวของเขตเมืองในพื้นที่อีอีซีในอีก 20 ปีข้างหน้าในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา ครอบคลุมพื้นที่ 8,291,250 ไร่ รองรับประชากร 6 ล้านคนเศษ กำหนดพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท เช่น

          1.กลุ่มพัฒนาเมืองและชุมชน (พื้นที่เพิ่มขึ้น 3.37%) พื้นที่ 1.096 ล้านไร่ คิดเป็น 13.23% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น พื้นที่ 4 ประเภทย่อย คือ ประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม (สีแดง) เพิ่มขึ้น 71,456 ไร่ เพิ่มเป็น 96,795 ไร่ เพิ่มขึ้น 0.31%

          ประเภทชุมชนเมือง (สีส้ม) จากพื้นที่เดิม 746,515 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 981,974 ไร่ เพิ่มขึ้น 6.25% และประเภทรองรับการพัฒนาเมือง (สีส้มอ่อนมีจุดขาว) พื้นที่รวม 463,666 ไร่ และ พื้นที่ประเภทเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ (สีน้ำตาล) มีพื้นที่รวม 18,210 ไร่

          2.กลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1.99% พื้นที่ 424,854 ไร่คิดเป็นพื้นที่ 5.12% กำหนดให้รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการได้ง่าย กำหนดระยะห่างจากพื้นที่ป่าไม้ ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร จากแม่น้ำลำคลอง ห่างจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 500 เมตร แบ่งเป็น  2 ประเภท คือ ประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ  (สีม่วง) จำนวน 23 เขต พื้นที่รวม 90,010 ไร่ กับ พื้นที่ประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม (สีม่วงอ่อนมีจุดขาว) เพิ่มขึ้นจาก 2.59 แสนไร่ เป็น 3.34 แสนไร่

          3.กลุ่มพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่รวม 4,850,831 ไร่ ลดลงประมาณ 8.13% แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ที่ดินประเภทชุมชนชนบท (สีเหลืองอ่อน) โดยเป็นพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน รวมพื้นที่ 2.07 ล้านไร่ รวมถึงที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม (สีเขียวอ่อน) มีพื้นที่รวม 1.1 ล้านไร่เศษ  ที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (สีเหลืองมี เส้นทแยงสีเขียว) มีพื้นที่คงเดิมรวม 1.66 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออก ของอีอีซี และพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 2.93% รวมพื้นที่ประเภทนี้ทั้งหมด 1.67 ล้านไร่เศษ

          ส่วนพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ เขตทหารและแหล่งน้ำ มีพื้นที่รวม 2.39 แสนไร่ ลดลงจากเดิม 0.16%

          ในขณะที่แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แบ่งเป็น 5 แผนผัง และ 1 มาตรการ ประกอบด้วย แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง แผนผังระบบการ ตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย และมาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ

          ขณะที่สาระสำคัญรายการประกอบแผนผังท้ายประกาศฯ ประกอบด้วย 5 รายการ คือ รายการประกอบแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ขอบเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทและตำแหน่งที่ตั้ง รายการประกอบแผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ (ตำแหน่งที่ตั้งสถานีดับเพลิง สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ระบบบำบัด น้ำเสียชุมชน)

          รวมถึงรายการประกอบแผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง รายการประกอบแผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ และรายการประกอบแผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย

          ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า หลังจากที่แผนผังการ ใช้ที่ดินอีอีซีผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้วจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ทันที จากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองก็จะนำไปจัดทำเป็นผังเมือง จ.ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา 

          ส่วนภาคเอกชนที่ได้เตรียมที่จะลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมหากแผนผังการใช้ที่ดินในอีอีซี เปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมแล้ว ก็ยื่นขอต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อจัดตั้งนิคมฯได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้าต่างๆ เข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี อีกเป็นจำนวนมาก

          สำหรับ นิคมฯ ที่อยู่ระหว่างการขอตั้งนิคมฯแห่งใหม่กับ กนอ. มีทั้งสิ้นรวม 18 นิคมฯ มีพื้นที่รวม 35,788 โดยเป็นนิคมฯที่อยู่ใน จ.ฉะเชิงเทรา 8 โครงการ จ.ชลบุรี 6 โครงการ และจ.ระยอง 4 โครงการ ซึ่งทั้ง 18 นิคมฯ ที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้จะ เสนอ กอพ.ยกขึ้นเป็นเขตส่งเสริมเพื่ออุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ