ชงพื้นที่พัฒนาเมือง ล้านไร่
Loading

ชงพื้นที่พัฒนาเมือง ล้านไร่

วันที่ : 13 สิงหาคม 2562
"สกพอ." เล็งชง ครม.เคาะผังอีอีซี 2 สัปดาห์ข้างหน้า กันพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง-ชุมชน 1.09 ล้านไร่ หนุนพัฒนาเขตเมืองริมชายทะเล-ปากแม่น้ำ แนวถนนสุขุมวิท ดัน 6 เมืองศูนย์กลางธุรกิจ หอการค้า ชี้ เอกชนชะลอลงทุนอสังหาฯ รอดูผังเมือง จี้ ประกาศพื้นที่สมาร์ทซิตี้
          สกพอ." เล็งชง ครม.เคาะผังอีอีซี 2 สัปดาห์ข้างหน้า กันพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง-ชุมชน 1.09 ล้านไร่ หนุนพัฒนาเขตเมืองริมชายทะเล-ปากแม่น้ำ แนวถนนสุขุมวิท ดัน 6 เมืองศูนย์กลางธุรกิจ หอการค้า ชี้ เอกชนชะลอลงทุนอสังหาฯ รอดูผังเมือง จี้ ประกาศพื้นที่สมาร์ทซิตี้

          นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ร่างแผนผัง การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างจัดทำ รายละเอียดเอกสารแนบ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

          "พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำหนดให้ประกาศใช้แผนผังการพัฒนาภายใน 1 ปี หรือภายใน 9 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ถ้ามี การประกาศใช้ล่าช้าไปเล็กน้อยไม่มี ปัญหาอะไร" นางสาวทัศนีย์ กล่าว

          รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า ร่างแผนผัง การพัฒนาอีอีซีที่ผ่านความเห็นชอบจาก กพอ.กำหนดกรอบการใช้พื้นที่เพื่อ พัฒนาครอบคลุม 4 กลุ่ม 11 ประเภท คือ 1.พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 1.09 ล้านไร่ 2.พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 424,854 ไร่ 3.พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม 4.85 ล้านไร่ 4.พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม 1.67 ล้านไร่

          สำหรับการกำหนดพื้นที่รองรับการพัฒนาเมืองและชุมชน ได้กำหนดบริเวณที่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน รองรับการพัฒนาเมืองใหม่และเมืองเดิมในเขตอีอีซี โดยมีพื้นที่จากเดิม 817,971 ไร่ สัดส่วน 9.87% ของพื้นที่ทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น 1,096,979 ไร่ สัดส่วน 13.23% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือ เพิ่มขึ้น 3.37%

          หนุนพัฒนาแนวถนนสุขุมวิท

          การกำหนดพื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชนจะใช้ประโยชน์เพื่อพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ส่วนใหญ่กระจายตัวบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก  ที่ราบปากแม่น้ำบางปะกง ที่ราบปากแม่น้ำระยอง ที่ราบลุ่มน้ำประแสร์ และตลอดแนว 2 ข้างของถนนสุขุมวิท และให้รองรับการพัฒนาเข้ามายังพื้นที่ตอนใน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ

          1.ชุมชนเมือง 5.18 แสนไร่ รองรับการอยู่อาศัยบริเวณเขตเมืองริมชายฝั่งทะเล ต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรม ศูนย์กลาง เมืองหลักระดับจังหวัด-อำเภอ และเขต ให้บริการของขนส่งมวลชน ได้แก่ พื้นที่ต่อเนื่อง จากศูนย์กลางพาณิชยกรรม บริเวณด้านในถนน มอเตอร์เวย์ เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เทศบาลเมืองพนมสารคาม เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลนครระยองและพื้นที่โดยรอบกลุ่มเทศบาลเมืองต่างๆ

          2.ศูนย์กลางพาณิชยกรรม จากพื้นที่เดิม 71,456 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 96,795 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 0.31% ใช้เป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลัก เพื่อส่งเสริมศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ นันทนาการและการท่องเที่ยวระดับประเทศ ภาค และนานาชาติ 6 เมือง ได้แก่ เมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี เมืองศรีราชา-แหลมฉบัง เมืองพัทยา เมืองอู่ตะเภา เมืองระยอง

          3.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับกิจการพิเศษ 0.18 แสนไร่ รองรับการพัฒนาตาม นโยบาย กพอ.และ ครม.ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (อีอีซีเอ) เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อีอีซีเอช) และเขตส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์ (อีอีซีเอ็มดี)

          4.รองรับการพัฒนาเมือง 4.63 แสนไร่ เพื่อรองรับการขยายตัวของการอยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีบริเวณชานเมือง เป็นพื้นที่ ต่อเนื่องชุมชนเมือง ได้แก่ พื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบศูนย์กลางหลักระดับอำเภอ และระดับเทศบาลตำบลต่างๆ

          มหานครการบิน1.4แสนไร่

          สำหรับการพัฒนาพื้นที่มหานครการบิน ภาคตะวันออก การเชื่อมต่อโดยรอบพื้นที่ "มหานครการบินภาคตะวันออก" แบ่งเป็น 3 เขต  คือ 1.เขตชั้นใน มหานครการบินภาคตะวันออก 10 กิโลเมตร รอบสนามบิน ประมาณ 140,000 ไร่ โดยมีสัตหีบ-บ้านฉาง อยู่ศูนย์กลาง
          2.เขตชั้นกลาง มหานครการบินภาคตะวันออก 30 กิโลเมตร จากสนามบิน ตั้งแต่ เมืองพัทยา ถึง เมืองระยอง 3.เขตชั้นนอก มหานครการบินภาคตะวันออก 60 กิโลเมตร จากสนามบิน ครอบคลุมเมืองในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง เช่น ศรีราชา บ้านค่าย บ้านบึง

          เอกชนจี้รัฐเร่งประกาศผังเมือง

          นายปรัชญา สมะลาภา ประธาน คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า การพัฒนาเมืองในอีอีซีควรใช้รูปแบบเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับผังเมืองอีอีซี ซึ่งที่ผ่านมา กพอ.ให้ความเห็นชอบไปแล้ว และต้องผ่าน ความเห็นชอบจาก ครม.จากนั้นจึงจะมาทำผังเมืองจังหวัด จึงมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะมีการประกาศผังเมือง

          ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองในอีอีซีควรมี 2 รูปแบบ คือ 1.การขยายตัวเมืองเดิม 2.การสร้างเมืองใหม่ ซึ่งภาครัฐควรเร่งประกาศ พื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาเมืองใหม่ เพราะปัจจุบันภาคเอกชนไม่กล้าลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าภาครัฐประกาศผังเมืองที่ระบุรายละเอียดพื้นที่รองรับการพัฒนา เมืองใหม่ที่ชัดเจนจะทำให้เอกชน มีความมั่นใจในการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า ย่านธุรกิจ
          สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนา สมาร์ทซิตี้ คือ 1.ตัวเมืองของ 3 จังหวัด (ชลบุรี  ระยอง ฉะเชิงเทรา) 2.อ.บ้านฉาง จ.ระยอง 3.พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง
 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ