โยธาฯหนุนพัฒนา12เมืองใหม่รับรถไฟฟ้า
Loading

โยธาฯหนุนพัฒนา12เมืองใหม่รับรถไฟฟ้า

วันที่ : 31 พฤษภาคม 2562
กรมโยธาฯเร่งคลอดผังภาคมหานคร กำหนดทิศทางพัฒนา กทม.และ 5 จังหวัด ปริมณฑลเป็นรูปแบบเดียวกันอย่างไร้รอยต่อ ปั้นศูนย์กลางเศรษฐกิจ หนุน EEC ปักหมุดบางแค บางใหญ่ รังสิต มีนบุรี สุวรรณภูมิ-ลาดกระบัง นครปฐม ศาลายา คลองหลวง ธัญบุรี บางปู-บางเสาธง สมุทรสาคร กระทุ่มแบน-อ้อมน้อย พัฒนาเมืองใหม่ รับรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง
          กรมโยธาฯเร่งคลอดผังภาคมหานคร กำหนดทิศทางพัฒนา กทม.และ 5 จังหวัด ปริมณฑลเป็นรูปแบบเดียวกันอย่างไร้รอยต่อ ปั้นศูนย์กลางเศรษฐกิจ หนุน EEC ปักหมุดบางแค บางใหญ่ รังสิต มีนบุรี สุวรรณภูมิ-ลาดกระบัง นครปฐม ศาลายา คลองหลวง ธัญบุรี บางปู-บางเสาธง สมุทรสาคร กระทุ่มแบน-อ้อมน้อย พัฒนาเมืองใหม่ รับรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง

          นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดร่างผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ผังภาคมหานคร) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เพื่อเป็นผังนโยบายและชี้นำการใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคมขนส่ง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การป้องกันภัยภิบัติให้เป็นเอกภาพและไร้รอยต่อ โดยใช้โมเดลผังเมืองรวมกรุงเทพฯเป็นต้นแบบ เช่น กำหนด FAR (พื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) OSR (พื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม)

          มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแต่ละจังหวัดเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาให้มีบทบาทเป็นเมืองศูนย์กลางการติดต่อธุรกิจ การค้า การบริการ ระดับนานาชาติไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองรับประชากรที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 19 ล้านคนในปี 2580

          รวมถึงเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก กับประเทศอาเซียน อินเดีย และจีน เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ คือ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักและการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ

          "ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองในกรุงเทพฯขยายตัวจนเกือบเต็มพื้นที่ที่ผังเมืองรวมกำหนดให้เป็นพื้นที่เมือง ในอนาคตภาคมหานครยังมีประเด็นท้าทายที่ต้องเผชิญเหมือนมหานคร ต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ต้องเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน และบริการที่เหมาะสม เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมโยงต่อเนื่องไร้รอยต่อ"

          สำหรับร่างผังภาคมหานครจะเสร็จในปีนี้ พร้อมกับ พ.ร.บ.การผังเมืองฉบับใหม่ประกาศใช้ จากนั้นกรมจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะส่งมอบให้แต่ละจังหวัดนำไปเป็นแนวทางการวางและจัดทำผังเมืองรวมต่อไป จะเป็นการลงลึกรายละเอียดการพัฒนาว่าตรงไหนได้ไม่ได้ ส่วนผังภาคมหานครที่กรมดำเนินการเป็นผังด้านนโยบาย

          "ผังเมืองรวมกรุงเทพฯฉบับใหม่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้ว โดยหลักจะ ส่งเสริมการพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้าระยะ 500 เมตร มีศูนย์กลางพาณิชยกรรม ระดับนานาชาติอยู่ที่ปทุมวัน อโศก สีลม สาทร พระราม 9 มีย่านพหลโยธิน มักกะสัน วงเวียนใหญ่ เป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรม แห่งใหม่"

          ในส่วนของพื้นที่จังหวัดปริมณฑลที่เป็นพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพฯ จะมีการพัฒนารถไฟฟ้า 10 เส้นทางเชื่อมการเดินทาง จะส่งเสริมการพัฒนาเมืองแต่ละจังหวัดมีศูนย์ชุมชนเมืองมารองรับเพื่อกระจายความเจริญที่แออัดในกรุงเทพฯไปยังพื้นที่รอบนอกไปถึงถนนวงแหวนรอบที่ 3

          โดยกำหนดบางแค บางใหญ่ รังสิต มีนบุรี สุวรรณภูมิ-ลาดกระบัง เป็นเมืองศูนย์กลางแหล่งงานและที่อยู่อาศัยชานเมือง และกำหนดนครปฐม ศาลายา คลองหลวง ธัญบุรี บางปู บางเสาธง สมุทรสาคร กระทุ่มแบน อ้อมน้อย เป็นเมืองศูนย์กลางรองในเขตจังหวัดปริมณฑล มีการพัฒนาเมืองใหม่ให้คนอาศัยอยู่บริเวณนี้

          อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี หรือ TOD ในรัศมีประมาณ 2 กม. ทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง โดยรัฐอาจจะนำการจัดรูปที่ดินเข้าไปช่วยในการพัฒนาแล้วจะให้เอกชนเช่า หรือเปิด PPP ช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐ
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ