สนข.ชูโมเดลขนส่ง เชื่อม3จังหวัด อีอีซี
Loading

สนข.ชูโมเดลขนส่ง เชื่อม3จังหวัด อีอีซี

วันที่ : 29 เมษายน 2562
สนข.เดินหน้า แผนพัฒนาระบบขนส่งเชื่อม 3 จังหวัด อีอีซี คาด พ.ค.นี้คลอดแผนเบื้องต้น เริ่มเปิดรับฟังความเห็น แย้มรถไฟ แทรมเหมาะพัฒนาเป็นฟีดเดอร์หนุนชลบุรี-ระยอง
          สนข.เดินหน้า แผนพัฒนาระบบขนส่งเชื่อม 3 จังหวัด อีอีซี คาด พ.ค.นี้คลอดแผนเบื้องต้น เริ่มเปิดรับฟังความเห็น แย้มรถไฟ แทรมเหมาะพัฒนาเป็นฟีดเดอร์หนุนชลบุรี-ระยอง

          รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สนข.ได้ลงนามว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา วงเงิน 32 ล้านบาท เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 13,266 ตารางกิโลเมตร และประชากร 2.8 ล้านคน

          รองรับการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เป้าหมายหลักจะต้อง มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงโครงการสำคัญในอีอีซี เช่น ท่าอากาศยานอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา และท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

          สำหรับกรอบการศึกษาจะครอบคลุมถึงการศึกษาพฤติกรรมการเดินทางและขนส่ง การพัฒนาที่ดิน จำนวนประชากร ตลอดจนการ คาดการณ์ความต้องการในการ เดินทาง แนวเส้นทาง รูปแบบและวงเงินในการลงทุน การออกแบบ ตลอดจนการจัดทำรายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อม โดยจะจัดทำแผนพัฒนาแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น5 ปี (2563-2567) ระยะกลาง 10 ปี (2563-2568) และระยะยาว 20 ปี (2563-2578) เบื้องต้น สนข. มีโมเดลการพัฒนาจากต่างประเทศ เช่น เขตคันไซ ของประเทศญี่ปุ่น, เขตพัฒนาอุตสาหกรรมตะวันออกเฉียงใต้ ของเกาหลีใต้, ลอมบาร์เดียของ อิตาลี และแคว้นโอแวร์ญ- โรนาลป์ ของฝรั่งเศส

          ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าทีมที่ปรึกษาจะเร่งรวบรวมข้อมูล นำเสนอรายงาน ผลการศึกษาเบื้องต้นได้ในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ เพื่อนำโครงการศึกษาดังกล่าวเข้าร่วมประชุมเปิดรับฟัง ความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชนครั้งที่ 1 จ.ชลบุรี และจะสรุปผลการศึกษาแนวเส้นทางเบื้องต้นได้ในช่วงปลายปีนี้ ส่วนผลการศึกษาขั้นสุดท้าย คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน มี.ค.2563

          รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า จากการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ใน จ.ชลบุรีและระยอง มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการพัฒนาการเชื่อมต่อการ เดินทางโดยใช้ระบบราง หรือระบบรถไฟฟ้าระดับพื้นดิน (แทรม) ซึ่งจะคล้ายกับผลการศึกษาเดิมของ ท้องถิ่นที่เคยศึกษาไว้ เพราะเป็นระบบการเชื่อมต่อที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัด รวมทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังมีระบบรถไฟทางคู่รองรับแล้ว อีกทั้งในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้บริการด้วย ดังนั้นระบบขนส่งที่เหมาะสมควรเป็นฟีดเดอร์ในการขนถ่ายผู้โดยสารเชื่อมต่อการเดินทาง
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ