ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง ถูกกว่า ค่าก่อสร้างจริง ธนารักษ์ รับเก็บภาษีที่ดิน ต่ำเป้า
Loading

ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง ถูกกว่า ค่าก่อสร้างจริง ธนารักษ์ รับเก็บภาษีที่ดิน ต่ำเป้า

วันที่ : 16 เมษายน 2562
"ธนารักษ์" เผยราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน "ต่ำกว่า" ราคาก่อสร้างจริง แจงใช้วิธีการวัด ความกว้างและยาวของสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่คำนึงว่าสิ่งปลูกสร้างจะใช้วัสดุใด ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้สูงตามที่คาด ด้านสศค.คาดระยะ 2 ปีแรกนับจากปี 2563 รัฐบาลจะมีรายได้จากการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างราว 4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท
          คาดมีรายได้ ตามก.ม.ใหม่ 4 หมื่นล้านต่อปี

          "ธนารักษ์" เผยราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน  "ต่ำกว่า" ราคาก่อสร้างจริง แจงใช้วิธีการวัด ความกว้างและยาวของสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่คำนึงว่าสิ่งปลูกสร้างจะใช้วัสดุใด ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้สูงตามที่คาด  ด้านสศค.คาดระยะ 2 ปีแรกนับจากปี 2563 รัฐบาลจะมีรายได้จากการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างราว 4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท

          นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดี กรมธนารักษ์  เปิดเผยว่า การประเมินราคา สิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของฐานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นราคาประเมินที่ต่ำกว่าราคาค่าก่อสร้างจริง ซึ่งจะมีผลทำให้ภาระภาษีที่เกิดขึ้นจริงหลังการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้สูงอย่าง ที่หลายฝ่ายคาด

          ทั้งนี้ การประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างนั้น จะใช้ลักษณะการประเมินโดยวัดความกว้าง และความยาวของบ้าน โดยไม่คำนึงว่าบ้านหลังนั้นจะตกแต่งหรือใช้วัสดุใด ในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะก่อสร้างด้วยอิฐ หรือไม้ จะใช้เป็นราคาเดียวกันหมด เช่น บ้านเดี่ยวคิดราคาประเมินที่ 7,500 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่ราคาค่าก่อสร้างจริง ในท้องตลาดปัจจุบันจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ต่อตารางเมตรเป็นต้น

          เขากล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป กรมธนารักษ์ในฐานะผู้ที่จะต้องทำราคาประเมินที่ดินและราคาประเมินอาคาร สิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งการประเมินราคาที่ดินรายแปลงจนถึงปัจจุบันได้ทำการประเมินรายแปลงไปแล้ว 20 ล้านแปลง ในปีนี้ยังเหลืออีก 13.4 ล้านแปลง ซึ่ง ความจริงแล้วทำการประเมินราคาที่ดิน รายแปลงไปแล้ว เพียงแต่นำมาทบทวนใหม่ เท่านั้น ในส่วนของการประเมินสิ่งปลูกสร้าง บนที่ดิน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะต้องออกเดินสำรวจบ้านและอาคารทุกหลังในเขตที่ แต่ละท้องถิ่นรับผิดชอบนั้น กรมธนารักษ์ได้กำหนดแบบสิ่งปลูกสร้างไว้ 31 แบบ จากเดิมมี 69 แบบ เพื่อให้ง่ายต่อการประเมิน และลดการใช้ดุลยพินิจ เช่น บ้านเดี่ยว ตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียม เป็นต้น

          เขากล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของแต่ละท้องถิ่นจะต้องสำรวจและประเมินอาคาร ทุกหลังในพื้นที่ของตนเอง แม้ว่าราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของบ้านหลังนั้น จะมีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีนี้ก็ตาม เนื่องจากตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น กำหนดไว้ว่า  กรณีที่มีบ้านหลังที่สองขึ้นไป จะเสียภาษีนี้ ตั้งแต่บาทแรกของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นั้น จึงจำเป็นต้องทำการประเมินอาคาร ทุกหลังในประเทศ อย่างไรก็ตามสำหรับ คนที่มีบ้านตั้งแต่สองหลังขึ้นไป บ้านหลังหลัก หรือหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทที่ได้รับยกเว้นภาษีนั้น จะต้องเป็นบ้าน ที่เจ้าของมีชื่อในทะเบียนราษฎร์เท่านั้น

          สำหรับพระราชบัญญัติประเมิน ราคาที่ดินฉบับใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาวาระสามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น  จะทำให้ขั้นตอนการพิจารณาราคาประเมินที่ดิน รวมถึงการอุทธรณ์ ราคาประเมินที่เจ้าของที่ดินอาจเห็นว่า ไม่เป็นธรรมนั้น มีการพิจารณาราคาประเมินจบในระดับจังหวัด จากปัจจุบันที่จะต้องส่งมาให้คณะกรรมการส่วนกลางเป็น ผู้พิจารณาอนุมัติ ทำให้กระบวนการพิจารณาราคาประเมินสั้นลง

          ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าในช่วง 2 ปีแรกของการเริ่มจัดเก็บภาษี คือ ปี 2563 และ 2564 รายได้จากภาษีตัวนี้จะได้รับประมาณ  4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันที่มีรายได้ จากภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษี บำรุงท้องที่ราว 3 หมื่นล้านบาท โดยหลังจาก 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีนี้ รัฐบาลในขณะนั้นจะต้องประกาศอัตราจัดเก็บภาษีนี้ (Effective rate) ใหม่ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เพดานตามที่กฎหมายกำหนด

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้จากภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีรายได้สูงกว่า กฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ในปัจจุบันซึ่งเป็นกฎหมาย ภาษีทรัพย์สินเช่นกันก็ตาม แต่ก็นับว่า ต่ำกว่ารายได้ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่สศค.คาดไว้เดิมที่ 6-7 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก สนช.ได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
 
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ