ทุนจีน แห่ลงทุนนิคมอีอีซี
Loading

ทุนจีน แห่ลงทุนนิคมอีอีซี

วันที่ : 3 เมษายน 2562
4 บิ๊กนิคมรับอานิสงส์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ผลักนักลงทุนจีนแห่ปักหมุดนิคม EEC ล่าสุด "BOI" เผยยอดลงทุนจีนปี'61 โตพุ่ง 102% โกย 55,475 ล้านบาท ด้าน "WHA" เปิดนิคมแห่งที่ 10 ประเดิมขายที่ 280 ไร่ "บ.พรินซ์ เฉิงซาน" ตั้งโรงงานยางล้อ ด้าน "อมตะฯ" ปิดดีลจีน 100 ไร่ "โรจนะ" ยอมรับจีนพุ่งตั้งโรงงานโซลาร์ "CPGC" ชัดตั้งนิคมรับจีน ฮ่องกง ไต้หวัน
        หนีเทรดวอร์-ดันยอดขายWHA-อมตะ

        4 บิ๊กนิคมรับอานิสงส์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ผลักนักลงทุนจีนแห่ปักหมุดนิคม EEC ล่าสุด "BOI" เผยยอดลงทุนจีนปี'61 โตพุ่ง 102% โกย 55,475 ล้านบาท ด้าน "WHA" เปิดนิคมแห่งที่ 10 ประเดิมขายที่ 280 ไร่ "บ.พรินซ์ เฉิงซาน" ตั้งโรงงานยางล้อ ด้าน "อมตะฯ" ปิดดีลจีน 100 ไร่ "โรจนะ" ยอมรับจีนพุ่งตั้งโรงงานโซลาร์ "CPGC" ชัดตั้งนิคมรับจีน ฮ่องกง ไต้หวัน

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า หลังจากที่จีนและญี่ปุ่นมี นโยบายจับมือกันออกมาลงทุนในประเทศที่ 3 โดยเลือกไทยนั้น ล่าสุดพบว่าใน 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน EEC ทั้ง 2 ประเทศซื้อซองและยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมประมูล รวมถึงการจับมือกับทางบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) โดยนักลงทุนจีนมีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนญี่ปุ่นเชี่ยวชาญการลงทุนต่างประเทศ 

          ทั้งนี้ จากสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของบีโอไอ พบว่าปี 2561 มีการลงทุนจากจีน 131 โครงการ มูลค่า 55,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102% จาก ปี 2560 มีการลงทุนเพียง 87 โครงการ มูลค่า 27,514 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนจีนมั่นใจ และเห็นศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยมากขึ้น

          สำหรับในการประชุมบอร์ดอีอีซีเดือน เม.ย. 62 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทาง สกพอ. จะรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ 5 โครงสร้างพื้นฐานและระเบียบการใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมวงเงิน 1,000 ล้านบาท   

          นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่ บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า สัดส่วนนักลงทุนจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 40% จากเดิมมีเพียง 7% โดยได้ทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 จากปัจจัยหลักที่จีนมีนโยบายขยายการลงทุนออกไปต่างประเทศ หลังจากจีนเผชิญสงครามการค้ากับทางสหรัฐ ประกอบกับต้นทุนค่าแรง ค่าที่ดินสูงขึ้น เป็นแรงกระตุ้นให้จีนต้องเร่งที่จะออกมาลงทุนต่างประเทศเร็วขึ้น โดยเป้าหมาย หลักคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างประเทศไทยมีการเติบโตสูง โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คน สิทธิประโยชน์ 

          "อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่มา คือ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และคอนซูเมอร์ ซึ่งจากที่จีนเผชิญสงครามการค้ากับ สหรัฐ การมาตั้งโรงงานที่ไทยเพื่อผลิตส่งออกไปตลาดเดิมอย่างสหรัฐ และยังมีตลาดสหภาพยุโรป การมาลงทุนผลิตในไทยทำให้จีนสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีก"

          ล่าสุดได้เปิดตัวนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE3) เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นนิคมแห่งที่ 10 ของ WHA ขนาด 2,198 ไร่ จ.ชลบุรี และถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษใน EEC แล้ว เป็นนิคมที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย นอกจากรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) แล้วนั้น ยังรองรับนักลงทุนจากจีน ซึ่งปัจจุบัน WHA มีที่ดินพัฒนาแล้วเตรียมขาย 10,000 ไร่ โดยปี 2562 ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในไทย 1,400 ไร่ เวียดนาม 200 ไร่

          นายเชอ หงจื้อ ประธานบริษัท เฉิงซาน กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2559 และเมื่อเจอสงครามการค้าจึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ตัดสินใจมาลงทุนที่ไทยเร็วขึ้น โดยจะตั้งโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ที่นิคมอีสเทิร์นซีบอร์ด 3 พื้นที่ 280 ไร่ ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกที่ออกมาลงทุนต่างประเทศ ด้วยเม็ดเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 20,100 ล้านบาท) แบ่งเป็น 3 เฟส เป้าหมายผลิตยางรถยนต์และยางรถบรรทุก 12 ล้านเส้น ส่งออก 90% ขายในประเทศไทย 10% ภายใน 5 ปี ใช้น้ำยางในประเทศไทยเป็นวัตถุดิบ 180,000 ล้านตัน และยางส่วนอื่นอีกประมาณ 50,000-60,000 ตัน โดยเฟส 1 เริ่มก่อสร้างโรงงานเดือน เม.ย. 2562 แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งจะผลิตยางรถยนต์ 10 ล้านเส้น ยางรถบรรทุก 5 แสนเส้น เฟส 2 ผลิตยางรถยนต์ตามดีมานด์ในตลาด และเฟส 3 ผลิตยางรถยนต์ให้ได้ครบ 12 ล้านเส้น การลงทุนครั้งนี้ยังได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงถึง 8 ปี ลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี

          ด้านนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า ปี 2562 นี้ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง จะถูกพัฒนา เพื่อรองรับนักลงทุนจีนที่มีการติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผลจากสงครามทางการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจะส่งผลต่อการขายที่ดินในปีนี้ของกลุ่มอมตะฯ ที่ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1,075 ไร่ เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน ซึ่งได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินไปแล้วกว่า 100 ไร่ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเตรียมที่จะเซ็นสัญญากับกลุ่มผู้ประกอบการจีนอีก 28 ไร่ ในเดือน เม.ย. และอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการเจรจา เงื่อนไขเพื่อสรุปการซื้อขาย และการเซ็นสัญญาได้เร็ว ๆ นี้

          ทั้งนี้อมตะฯได้ปรับราคาที่ดินในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี เป็น 11 ล้านบาท/ไร่ จาก 8.5 ล้านบาท/ไร่ ส่วนนิคมอมตะซิตี้ ระยอง ราคาที่ดินปรับเพิ่มเป็น 4.5 ล้านบาท/ไร่ จากต้นทุนการพัฒนาที่ดินที่สูงขึ้น และยังมีแผนใช้งบฯ 3,000 ล้านบาท ซื้อที่ดินเพิ่มจากปัจจุบันมีที่ดินเตรียมพัฒนา 8,837 ไร่ในไทย ในเวียดนาม 1,269 ไร่

          รายงานข่าวระบุว่า นอกจากอมตะฯ และ WHA แล้ว ในอีอีซียังมีนิคมของบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) 4 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง พื้นที่ 843.41 ไร่ 2.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง ปลวกแดง พื้นที่ 1,373.80 ไร่ 3.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ชลบุรี บ่อวิน 1 พื้นที่ 1,000 ไร่ 4.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง บ้านค่าย พื้นที่ 2,843.40 ไร่ ที่สัดส่วนจะเป็นญี่ปุ่น 70% ไทย 20% และจีนเพียง 10% เท่านั้น ล่าสุดบริษัท แคนาเดียนโซลาร์รายใหญ่จากประเทศจีนและไต้หวันเข้ามาลงทุนในนิคม พื้นที่ถึง 180 ไร่ และยังมีนิคมของบริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในเครือ ซี.พี. ซึ่งจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี (CPGC) ระยอง เมื่อปี 2561 พื้นที่ 3,068 ไร่ เงินลงทุน 5,600 ล้านบาท เป้าหมายรับกลุ่มนักลงทุนที่สื่อสารด้วยภาษาจีน วางเป้าหมายขายและให้เช่าพื้นที่ได้หมดภายใน 6 ปี เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ