ชงบีโอไอเพิ่มจูงใจลงทุน อีอีซี
Loading

ชงบีโอไอเพิ่มจูงใจลงทุน อีอีซี

วันที่ : 28 มีนาคม 2562
"สมคิด"พอใจผลงาน บีโอไอ 4 ปี หนุนผลงานทิศทางลงทุนประเทศ "นิด้า"แนะปรับสิทธิประโยชน์ ดึงทุนต่างชาติผนึกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนทางอ้อม ในอีอีซี หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยี ชงเพิ่มเงื่อนไข การให้สิทธิประโยชน์กิจการสร้างซัพพายเชน
        "นิด้า" แนะดึงต่างชาติ  ลงทุนผ่านตลาดหุ้น

        "สมคิด"พอใจผลงาน บีโอไอ 4 ปี หนุนผลงานทิศทางลงทุนประเทศ "นิด้า"แนะปรับสิทธิประโยชน์ ดึงทุนต่างชาติผนึกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนทางอ้อม ในอีอีซี หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยี ชงเพิ่มเงื่อนไข การให้สิทธิประโยชน์กิจการสร้างซัพพายเชน

          เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา (2558-2561) คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีมีสัดส่วนถึง 54% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด และที่ผ่านมา รัฐบาลต้องการให้การลงทุนภาคเอกชน มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาล พยายามเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งสิทธิประโยชน์

          การกำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริม การลงทุนในอีอีซีแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.การลงทุน ในเขตอุตสาหกรรมพิเศษ 21 แห่ง 2.การลงทุน ในเมืองการบินภาคตะวันออก 3.การลงทุน ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) 4.การลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 2-4 ปี โดยต้องยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนภายใน ธ.ค.2562

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รอง นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มอบหมายภารกิจหลักของสำนักงาน ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การส่งเสริมการลงทุน แต่มีการกำหนด ทิศทางการคัดท้ายทิศทางการลงทุนจาก ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยกระดับ ความสามารถแข่งขันของประเทศ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งผลที่ออกมา 4 ปี บีโอไอทำหน้าที่ได้น่าพอใจ

          บีโอไอจูงใจลงทุนคลัสเตอร์

          นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิ บีโอไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบีโอไอปรับปรุง สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อให้เกิดการลงทุนภายในประเทศอย่างครบวงจร และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่ให้สิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำที่เป็นการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงปลายน้ำผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป

          ทั้งนี้ แต่ละข้อต่อของคลัสเตอร์จะเลือกลงทุนในพื้นที่ที่ต่างกัน เช่น การวิจัยและ พัฒนาจะอยู่ใกล้สถานบันการศึกษา กรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่ ในขั้นการผลิตระดับกลางชิ้นส่วนจะอยู่ใกล้โรงงานแม่ผลิตสินค้าสำเร็จรูป และโรงงานแม่จะอยู่ใกล้กับโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งวัตถุดิบ เช่น โรงงานรถยนต์ ปิโตรเคมี จะอยู่ใกล้ท่าเรือ โรงงานอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ใกล้สนามบิน

          นายนฤตม์ กล่าวว่า ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น ในมาตรการส่งเสริมการลงทุน ล่าสุด ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับ การส่งเสริมในระดับสูง มีข้อกำหนดให้ต้องมีความร่วมมือวิจัยพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัย ของไทย และต้องพัฒนาบุคลากรไทยด้วย รวมทั้ง บีโอไอมีหน่วยงานเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนชาวไทยกับผู้ผลิตสินค้าต่างชาติด้วย

          แนะจูงใจบริษัทจดทะเบียน

          นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำ คณะรัฐประศาสนศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า อีอีซีเป็น โครงการสำคัญที่ช่วยเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจ ระยะต่อไป และการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมทั้งสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือน้ำลึก รองรับ และขยายต่อไปยังกัมพูชาได้ง่ายทำให้ มีโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

          ทั้งนี้ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย มีโอกาสขยายการลงทุนในอีอีซีมากขึ้น ควรให้ บีโอไอเพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทที่ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีศักยภาพขยายการลงทุนในอีอีซีได้เป็นจำนวนมากเข้าไปลงทุนในอีอีซีได้เพิ่มขึ้น

          นอกจากนี้ ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติเข้ามาถือหุ้น ซึ่งเสมือนกับการเข้ามาลงทุน ในประเทศแล้ว แต่อาจยังไม่ได้เข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งการสนับสนุนให้มาลงทุนในอีอีซีโดยให้สิทธิประโยชน์ก็จะส่งเสริมให้เกิดการเปิดขายหุ้นเพิ่มเป็นการระดมทุนทั่วโลก เพื่อร่วมลงทุนกับบริษัทไทยที่จะขยายการลงทุนในอีอีซีได้ถือว่าเป็นการนำเอาเงินลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในอีอีซีทางอ้อม

          เพิ่มช่องเอสเอ็มอีลงทุนอีอีซี

          ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของไทยอาจมีการลงทุน โดยจัดตั้งบริษัทลูกร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าการเข้ามาลงทุนต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นองค์ความรู้หรือ ขั้นตอนการทำงานให้กับบริษัทไทย เพราะถือหุ้นร่วมกันซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดีกว่า การเข้ามาลงทุนทางตรง (FDI) ของบริษัท ต่างชาติโดยตรง

          ส่วนบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์อาจเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและ ขนาดย่อมแต่มีศักยภาพก็เข้ามาลงทุนในอีอีซีได้ เห็นได้จากการขึ้นทะเบียนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากในปีที่ผ่านมามีมากกว่า 500,000 ราย ซึ่งหากสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ขยายการลงทุนเข้าไปในอีอีซีก็จะลดผลกระทบที่เกิดจากการไหลบ่า เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเราไม่ได้เตรียมความพร้อมเหมือนกับปี 2530 ที่ญี่ปุ่น เคยย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทย แล้วเรา มีแรงงานที่มีทักษะสูงไม่เพียงพอในที่สุดต้องเปิดให้มีการนำเข้าวิศวกรจากอินเดีย จากบังกลาเทศ

          หนุนสร้างซัพพลายเชน

          นอกจากนั้นการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีควรมีการเพิ่มเติมในการให้สิทธิประโยชน์คือต้องมีการเขียนเพิ่มเติมในเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ว่าการลงทุนในอีอีซีต้องมีผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงผ่านซัพพลายเชนไปในพื้นที่อื่นหรือซัพพายเชน ที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง โดยผู้ประกอบการรายใด สามารถที่จะสร้างซัพพายเชนที่เกี่ยวข้องไปยังอุตสาหกรรมพื้นฐานอื่นในประเทศมากขึ้น

          "นโยบายการส่งเสริมให้คนไทยลงทุนเพิ่มขึ้นในอีอีซีจะมีความยั่งยืนมากกว่าหรือไม่ แต่หากสามารถการลงทุนในอีอีซีสามารถเชื่อมโยงไปยังฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศได้ เช่น พื้นฐานสินค้าเกษตร เกิดซัพพลายเชน ให้มีการกระจายรายได้ให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในอีอีซีจะสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นระหว่างจังหวัดต่างๆ เช่น ระยองมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว ในปัจจุบันประมาณ 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี ขณะที่หนองบัวลำพูมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 50,000 บาทต่อคนต่อปี"
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ