สมคิด เร่งแผน อีอีซี-เอสอีซี
Loading

สมคิด เร่งแผน อีอีซี-เอสอีซี

วันที่ : 25 มีนาคม 2562
"สมคิด" ชี้หลังเลือกตั้งดันโครงการอีอีซี-เอสอีซี ต่อเนื่อง ระบุหากโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีปักหมุดได้เอกชนลงทุนใน 4 โครงการหลัก สามารถเดินหน้าได้ ลุ้นงบปี 2563 เคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจภาคใต้เน้นไบโออีโคโนมี
          "สมคิด" ชี้หลังเลือกตั้งดันโครงการอีอีซี-เอสอีซี ต่อเนื่อง ระบุหากโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีปักหมุดได้เอกชนลงทุนใน 4 โครงการหลัก สามารถเดินหน้าได้ ลุ้นงบปี 2563 เคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจภาคใต้เน้นไบโออีโคโนมี

          ความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กำหนดว่ามี.ค. ต้องได้เอกชนมาดำเนินโครงการ ท่าอากาศยานนานาชาติ(อู่ตะเภา) เดือนเม.ย.ศูนย์บำรุงอากาศยาน เม.ย.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เดือน มี.ค. ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เดือน เม.ย. ทั้ง 5 โครงการหลักและโครงการระเบียง เขตเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี)ต่างต้องการการทำงานอย่างต่อเนื่องจากหน่วยสนับสนุนหลัก คือรัฐบาล เบื้องต้นประเมินว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เพื่อไม่ให้โครงการต่างๆ สะดุด

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รอง นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในระยะเวลา 2-3 เดือนหลังเลือกตั้งตนจะขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจที่สำคัญ 2 เรื่องหลักได้แก่ การขับเคลื่อนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในอีอีซี และโครงการเอสอีซี ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญที่จะต้องวางรากฐานไว้สำหรับการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป 4โครงการสำคัญต้องเดินต่อ

          ทั้งนี้ในส่วนของโครงการอีอีซี หัวใจสำคัญคือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินและเมืองการบิน อู่ตะเภา รวมทั้งโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งหากโครงการทั้งหมดที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญสามารถคัดเลือกผู้ประมูล และทำสัญญาได้ก็จะทำให้โครงการที่เหลือของอีอีซีสามารถดำเนินไปได้ตามแผน ที่วางไว้

          สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นอกจากเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงโครงการแรกของประเทศที่จะช่วย ยกระดับการเดินทาง การคมนาคมขนส่ง และ โลจิสติกส์ให้กับประเทศ ยังเป็นโครงการที่จะ สร้างการพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะเติบโตไปตามแนวเส้นทางและสถานีของรถไฟความเร็วสูง ช่วยให้การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urban city) ขยายตัวออกไปจาก กทม.ไปยัง จังหวัดใกล้เคียงที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ผ่านด้วย

          นายสมคิด กล่าวถึงโครงการ เอสอีซี ขณะนี้ ได้มีการจัดทำข้อเสนองบประมาณปี 2563 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เมื่อโครงการนี้ มีงบประมาณรองรับก็จะสามารถดำเนินการได้ในส่วนของโครงการสำคัญๆ ทั้งโครงการสร้างฐานเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) และโครงการอื่นๆ ให้สามารถเกิดขึ้นได้ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตรในระยะต่อไป เร่งแผนเอสอีซี 2562-2565

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรอบงบประมาณในโครงการ เอสอีซีอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (2562-2565) วงเงินกว่า 1.06 แสนล้านบาทมีการจัดทำกรอบ งบประมาณแล้วซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นรายงาน

          ประกอบด้วย 1.ภาพรวมของแผนปฏิบัติการ ข้อเสนอโครงการของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตามกรอบพัฒนา 4 ด้านรวม 116 โครงการ วงเงิน 1.06 แสนล้านบาทเศษ โดยมีข้อเสนอส่วนที่ขอรับจัดสรรงบประมาณภายใต้ แผนปฏิบัติการฯจำนวน 111 โครงการวงเงินรวม  1.02 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 แผนงานย่อยได้แก่ กรอบการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาประตูการค้า ฝั่งตะวันตก (Western Gateway) โดยมีข้อเสนอขอจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการฯจำนวน 10 โครงการวงเงิน 4.9 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานระนอง และโครงการพัฒนาท่าเรือระนอง

          กรอบพัฒนาที่ 2 การพัฒนาประตู สู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (Royal Coast and Andaman Route) โดยมีข้อเสนอโครงการในส่วนที่ขอรับจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการฯจำนวน 31 โครงการ วงเงินรวม 3.9 หมื่นล้านบาท โดยโครงการที่สำคัญได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะพยาม โครงการก่อสร้าง ศูนย์กีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับประเทศเชื่อมโยงกับศูนย์การแพทย์ ทางเลือก ร.พ.ระนอง โครงการปรับปรุง ท่าอากาศยานชุมพรเพื่อการท่องเที่ยว และโครงการพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเล ช่วงสมุทรสงคราม-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ชุมพร-ระนอง

          "เอสอีซี"เน้นไบโออีโคโนมี

          กรอบการพัฒนาที่ 3 การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง (Bio-Based and Processed Agricultural Products)จำนวน 32 โครงการวงเงิน 6.4 พันล้านบาท โครงการสำคัญ เช่น โครงการสนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร โครงการศึกษา การจัดตั้ง SECr ศูนย์ความเชี่ยวชาญการวิจัย เชิงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โครงการ จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจภาคใต้ โครงการโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตนวัตกรรมยางพารา เป็นต้น

          กรอบการพัฒนาที่ 4 การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรมและการพัฒนาเมืองน่าอยู่ (Green, Culture, Smart and Livable Cities)โดยจัดสรรโครงการในแผนงานปฏิบัติการจำนวน 38 โครงการ วงเงิน 7.1 พันล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญเช่น โครงการป่าชายเลน ระนองสู่มรดกโลก โครงการเฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมความเข้มแข็งด้านการบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เทศบาลชุมพร โครงการพัฒนานวัตกรรมความปลอดภัยเมืองท่องเที่ยวทางน้ำ

          โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub โครงการติดตั้งระบบสารสนเทศเพื่อ การบริหารจัดการข้อมูล โครงการสร้างระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉินและข้อมูลความปลอดภัย โครงการพัฒนา จ.นครศรีธรรราชสู่ เมืองอัจฉริยะ เป็นต้น

          อีกส่วนหนึ่งเป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนที่ส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน และมีความพร้อม ที่จะดำเนินการได้ทันทีในปี 2562 (Quick Win)ซึ่งเป็นโครงการที่มีแหล่งงบประมาณแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 2.2 พันล้านบาท ได้แก่ โครงการการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการตลาดของท่าเรือระนองรองรับกลุ่ม BIMSTEC ของการท่าเรือ แห่งประเทศไทย วงเงิน 70 ล้านบาท

          โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานระนอง วงเงิน 158.62 ล้านบาท และโครงการยกระดับ โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมสู่การเป็น ASEAN Digital Hub วงเงิน 2000 ล้านบาท
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ