ปักหมุด สถานีพัทยา ไข่แดงอีอีซี เร่งประมูลอู่ตะเภาเมืองสนามบิน
Loading

ปักหมุด สถานีพัทยา ไข่แดงอีอีซี เร่งประมูลอู่ตะเภาเมืองสนามบิน

วันที่ : 30 สิงหาคม 2561
ปักหมุดสถานี "พัทยา" ศูนย์กลาง "เมืองอีอีซี" ตีคู่พัฒนาเชิงพาณิชย์เชื่อมเมืองรอบนอก และนิคมฯ เจ้าของที่ส้มหล่นต่อยอดอสังหาฯได้ในรัศมี 7 กม. รัฐเตรียมเปิดทีโออาร์ประมูล สนามบินอู่ตะเภา รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน เผยทุนจีนเฮโลบูมประเทศไทย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สนามบิน อู่ตะเภาจะถูกพัฒนาให้เป็นมหานครการบิน หรือ aerotropolis หรือ (EEC-A) ด้วยวงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ซึ่งจะเป็นเมืองที่เชื่อมโยงการคมนาคมแบบไร้รอยต่อ ด้วยรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

"สถานีพัทยา น่าจะเป็นจุดศูนย์กลางการพัฒนาเมือง ควบคู่กับพื้นที่รอบนอกและนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งที่ใกล้เคียง เช่น นิคมอุตสาหกรรมเหมราช, อมตะ และนิคมอื่น ๆ ซึ่งต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง หลังประมูลไฮสปีด"

ทั้งนี้ ทำเลสถานีพัทยา เป็นจุดเหมาะสม ด้วยระยะทางเพียง 30 กม. ใช้เวลาเดินทาง 17 นาที ตามหลักการพัฒนาเมืองใหญ่ ซึ่งต้องเลือก 1 สถานีก่อนถึงปลายทาง อนาคตจะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็นคลัสเตอร์เชื่อมเมืองรอบนอกสนามบิน โดยเอกชนเจ้าของที่จะต่อยอดเรื่องการพัฒนาในรัศมี 7 กม.จากสถานี ตามแผนแม่บทและกรอบผังเมือง

ซึ่ง EEC-A มี 6 โครงการคือ อาคารผู้โดยสาร 3, ศูนย์การค้า, อาคารสินค้า, ธุรกิจขนส่งและเขตประกอบการค้าเสรี, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และศูนย์ฝิกอบรมการบิน

คลอด TOR อู่ตะเภา

นายคณิศคาดว่า เดือนกันยายนนี้จะประกาศรายละเอียดทีโออาร์สนามบินอู่ตะเภา เบื้องต้นจะใช้วิธีแบบ PPP เช่นเดียวกับไฮสปีด และจะเปิดประมูลได้ใน 4-5 เดือนข้างหน้า จากนั้นเดือนตุลาคมจะประกาศทีโออาร์ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง

"การประมูลอู่ตะเภา คาดว่าจะมีนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจีน ซึ่งมีบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่และเชี่ยวชาญด้านการบินเข้าร่วมคณะของนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน มาลงพื้นที่อีอีซีประมาณ 10 ราย"

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ร่างเงื่อนไขการประมูลหรือทีโออาร์ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาต้องมีองค์ประกอบ เช่น ประเภทธุรกิจที่เกี่ยวกับสนามบิน, ศูนย์ซ่อมและอะไหล่เครื่องบิน, ระบบศุลกากร, ระบบโลจิสติกส์, ศูนย์อีคอมเมิร์ซ และคลังสินค้า ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกสามารถใช้บริการเป็นศูนย์กระจายสินค้าได้ โดยวางผังสนามบินให้มีจุดเชื่อมโยงทั้งการขนสินค้า ผู้โดยสาร และคลังสินค้าที่รวดเร็ว

ทุนจีนบุกอู่ตะเภา

กลุ่มทุนจีนที่ลงพื้นที่อู่ตะเภา ได้แก่ China State Construction Engineering Corporation, CRRC Corporation Ltd., China Railway Group Limited, Sinosteel Group Corporation Limited, China Southern Airlines, China Aerospace Science and Technology Corporation, China National Aviation Holding Corporation Limited และ China Eastern Air Holding Company Limited เป็นต้น

นายคณิศกล่าวว่า ไทยและจีนจะเร่งเชื่อมเส้นทางขนส่งผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวไทยจีน 6 เขต จะเริ่มที่เทียนสงเป็นพื้นที่ทดลองพิเศษ, เขตเศรษฐกิจพิเศษโมหาน-บ่อเต็น เพื่อเชื่อมมา EEC และขยายไปเขตเศรษฐกิจเซเซด (เวียงจันทน์-หนองคาย), เขตเศรษฐกิจพิเศษขอนแก่น (เชื่อมโยงระเบียงตะวันตก-ตะวันออกตอนบน) จากเมาะลำไย-แม่ฮ่องสอน-พิษณุโลกขอนแก่น-มุกดาหาร-เว้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษฉะเชิงเทรา (ระเบียงตะวันตก-ตะวันออกตอนล่าง) จากทวาย-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทราสระแก้ว-พนมเปญ-วุงเตา

พร้อมร่วมมือใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล เชื่อมกับกลุ่มหัวเว่ย, อาลีบาบา, Tencent เป็นต้น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เชื่อมกับบริษัท Siasun อุตสาหกรรมการบิน เชื่อมกับ Wuhan Optic Valley และ Wuhan University, NWIEE, CNSO, CNSA และ DJI เป็นต้น กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ เชื่อมกับเซี่ยงไฮ้มอเตอร์ (MG) และ Jiangsu Joylong Automobile กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ เชื่อมกับ BGI กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื่อมกับ Yellow Sea Fisheries Reseach Institute, Light Industry Reseach Institute of Guangxi และ Nanning Wanyu Foods และ Beijing Genomic Institute

ทั้งยังขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ ศูนย์ข้อมูล บริหารจัดการน้ำ การพัฒนา ท่องเที่ยวและสร้างชุมชน

อมตะ-WHA รับอานิสงส์

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บมจ.ดับบลิว เอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การให้พัทยาเป็นศูนย์กลางการบินจะทำให้ WHA ได้ประโยชน์ เพราะมีนิคม 2-3 แห่งอยู่ใกล้เคียง และยังมีที่เหลืออีก 10,000 ไร่ รอจำหน่าย ขณะที่นิคมอื่นขายพื้นที่ไป หมดแล้ว ช่วงต้นปีที่ผ่านมาราคาที่ในและนอกนิคมปรับสูงขึ้นต่อปีโดยเฉลี่ย 10%

"มีหลายโรงงานเข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ผู้ผลิตรถยนต์เอ็มจี ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ล่าสุด ทุนจีนมาหารือถึงแนวทางการพัฒนา robotic city คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้"

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า จีนให้ความสนใจจะลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ที่พัฒนาให้เป็นนิคมจีนโดยเฉพาะ รวมแล้ว 102 ราย คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 2,900 ล้านบาท ในโอกาสที่นักลงทุนเดินทางร่วมคณะรองนายกรัฐมนตรีหวัง หย่ง มีหลายรายสนใจ

สอท.มั่นใจ GDP พุ่ง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ลงนาม MOU ร่วมกับสมาคมการค้าจีน หลังจากนี้จะตั้งทีมงานพิเศษเพื่อประสานข้อมูลเรื่องการลงทุนของเอกชนไทย-จีน เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนใน EEC คึกคักขึ้น และผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล

"ภาคเอกชนเตรียมพัฒนา digital trade platform จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันในเดือนหน้า"

อู่ตะเภารับ 60 ล้านคน

นายลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เปิดเผยว่า จากคณะนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาได้แสดงถึงความสนใจ ท่านมองว่าจะผู้โดยสารมากกว่า 60 ล้านคน แล้วถ้าเพิ่มเป็น 200 ล้านคนจะทำอย่างไร

ส่วนการประมูลเทอร์มินอล 3 ของ อู่ตะเภา จะเริ่มออก TOR และจำหน่ายซองในเดือนตุลาคม 2561 และยื่นซองในเดือนมกราคม 2562

 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ