ค้านผังเมืองจำกัดสิทธิพัฒนาที่ดินตลอดแนวรถไฟฟ้า'กทม.'ยันเดินหน้าประกาศใช้ปี61
นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง(สผม.)กรุงเทพมหานคร(กทม.)กล่าวถึงความคืบ หน้าการศึกษาแก้ไขเพิ่มเติมผังเมืองรวม ซึ่งปัจจุบันผังเมืองรวม กทม.พ.ศ.2556 จะไม่มีวันหมดอายุตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ออกคำสั่งเพื่อแก้ปัญหาผังเมืองหมดอายุและเกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย ซึ่ง กทม.ได้เตรียมเสนอปรับแก้การใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันในบางส่วน โดยกรณีที่นักอสังหาริมทรัพย์ออกมาวิจารณ์ว่าข้อกำหนดต่างๆ ที่จะแก้ไขไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ได้จริงให้แบบจำกัดจำเขี่ยและการพัฒนาพื้นที่ริมเส้นทางรถไฟฟ้าก็ให้เพียงบางสายขยายเส้นทางไปและไม่กำหนดให้สร้างอาคารได้อย่างเหมาะสมสะเปะสะปะ
นายวันชัย กล่าวว่า การแก้ไขผังเมืองครั้งนี้มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนมีกรอบการพัฒนาที่ศึกษาร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย(มท.)กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ต้องเห็นชอบด้วยไม่ได้มีการกำหนดขึ้นมาลอยๆ หรือสะเปะสะปะแต่อย่างใด ซึ่งได้กำหนดกรอบในการพัฒนา 3 เรื่องหลักคือ 1.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ในฉบับนี้ได้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีการตั้งสำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติขึ้นมา กทม.จึงหารือผังเมืองร่วมกับจังหวัดปริมณฑลเพื่อให้การขนส่งเข้า-ออกตามรอยต่อมีการพัฒนามากขึ้น 2.การพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้าสนามบิน และสถานีขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นจุดขนถ่ายประชาชนที่ใช้บริการจำนวนมากซึ่งการพัฒนา ทั้งในส่วนของสถานีรถไฟฟ้าเองต้องศึกษาตามบริบทของพื้นที่ในแต่ละจุดด้วยสำหรับพื้นที่ชั้นในนั้นอาจจะพัฒนาอะไรได้ไม่มากนักเนื่องจากมีความหนาแน่นมากส่วนในพื้นที่รอบนอกจะต้องพิจารณาด้วยเนื่องจากบางจุดกระทบกับการบินเพราะติดกับสนามบินและบางแห่งนั้นระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา รองรับอย่างสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่
และ 3. เพิ่มการโอนสิทธิซื้อขายสิทธิของเจ้าของที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ใจกลางเมืองที่ถูกห้ามสร้างอาคารสูงเช่น พื้นที่ถูกเวนคืน พื้นที่ห้ามสร้างในจุดต่าง ๆ ให้สามารถขายสิทธิให้กับบุคคลอื่นในพื้นที่อื่นที่สามารถดำเนินการได้ แม้จะไม่สามารถดำเนินการได้ในทุกจุด แต่ก็มีหลายพื้นที่ที่สามารถทำได้เพราะบางจุดต้องดำเนินการตามกฎหมายควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดความกว้างของถนนเพื่อป้องกันปัญหาโดยเฉพาะกรณีไฟไหม้ทำให้ไม่สามารถเพิ่มความสูงของอาคารได้ในทุกจุด โดยจะใช้เวลาศึกษา 8 เดือนระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ย. จากนั้นก็จะเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้งก่อนจะส่งให้ มท. พิจารณาและส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2561
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์