อุตตม เร่งแก้ปมผังเมืองรวมรับอีอีซีโซนนิ่งที่ดิน3จังหวัดอุ้มอุตฯเป้าหมาย
Loading

อุตตม เร่งแก้ปมผังเมืองรวมรับอีอีซีโซนนิ่งที่ดิน3จังหวัดอุ้มอุตฯเป้าหมาย

วันที่ : 30 มกราคม 2560
อุตตม เร่งแก้ปมผังเมืองรวมรับอีอีซีโซนนิ่งที่ดิน3จังหวัดอุ้มอุตฯเป้าหมาย

"อุตตม" เร่งเครื่องระเบียงเศรษฐกิจ EEC จัดทำแผนพัฒนา พร้อมแผน ขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หารือ มท.1 แก้ปม "ผังเมือง" จัด ทำโซนนิ่งเสนอนายกฯตู่ กรมโยธาฯของบฯ 60 ล้านบาททำผังกลุ่ม 3 จังหวัดใช้แทนผังเมืองรวมในอนาคต

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งขับเคลื่อนแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง "ผังเมือง" ที่ส่งผลให้ภาคเอกชนยังไม่สามารถดำเนินโครงการได้

ดังนั้นในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ซึ่งตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามมาตรา 44 ได้หารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยการหารือได้มีข้อยุติที่ดีและ พล.อ.อนุพงษ์ ได้ฝากให้ กรศ.รีบจัดทำ "แผนโซนนิ่ง" ก่อนจะหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองอีกครั้งเพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

"เรื่องของผังเมือง ผมได้คุยกับ มท.1 ซึ่งกำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว ท่าน มท.1 ฝากให้รีบวาดภาพ "โซนนิ่ง" ซึ่งเราเป็นคนดูอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่แล้ว และนำมาหารือกับ มท.1 และคณะอีกครั้ง เช่นว่า ภาพที่วาดออกมาแบบนี้ ผังเมืองจะขอปรับอะไรบ้างได้หรือไม่ ก่อนที่จะนำเสนอนายกรัฐมนนตรี" นาย อุตตมกล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานตั้งขึ้นโดยใช้มาตรา 44 นั้น "ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้" เพราะทุกหน่วยงานมีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้มาตรา 44 จึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ได้จะต้องตกกับทุกฝ่าย ต้องไม่ทำเพื่อใครหรือเพื่ออุตสาหกรรม แต่ต้องทำเพื่อทุกคน ประชาชนในพื้นที่ต้องได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะมาตรา 44 มีขึ้นเพื่อเปิดทางให้หารือกัน

นอกจากนี้ กรศ.จะเร่งผลักดัน 5 โครงการหลักที่เป็นประโยชน์จาก 15 โครงการใน EEC ให้เกิดขึ้นก่อนภายใน 5 ปี เช่น โครงการโครงสร้างพื้นฐาน เฟสแรก ได้แก่ โครงการอู่ตะเภา จะขยายไปสู่อุตสาหกรรมซ่อมเครื่องบิน การผลิตชิ้นส่วน อากาศยาน,  โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ,โครงการรถไฟฟ้าทางคู่ เป็นต้น และภายในเดือนกุมภาพันธ์จะขอนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อนำเสนอแผนงานทั้งหมด

ส่วนกระบวนการหาพันธมิตรลงทุนในโครงการพื้นฐานต่าง ๆ 5 โครงการนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ EEC ทาง กรศ.อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องรูปแบบการลงทุน ทั้งในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PublicPrivate Partnership: PPP) หรือการเปิดประมูล "อย่างไหนเหมาะสมกว่ากัน" เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรับทราบต่อไป ขณะเดียวกัน กรศ.ก็จะทำหน้าที่ติดตามประสานกับหน่วยงานแต่ละโครงการโดยมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเป็นเลขาฯช่วยดูเรื่องพื้นที่

สำหรับแผนการชักจูงผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน EEC ทาง BOI จะปรับสิทธิประโยชน์ใหม่จากเดิมที่นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือน ๆ กัน หากเข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่ขอรับการส่งเสริม (พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับปรับปรุงแก้ไข) มาเป็นการเจรจาต่อรองรายอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการ (พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน)

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองระบุว่า การจัดทำผังเมืองกลุ่มจังหวัดรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะต้องรอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประชุมก่อนถึงจะเริ่มดำเนินการได้ ขณะนี้ กรมได้เสนอของบประมาณจำนวน 60 ล้านบาทไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อจัดทำ "ผังเมืองกลุ่มจังหวัด" ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง รวม 8 ล้านไร่ โดยจะใช้ผังเมืองกลุ่มจังหวัดแทน "ผังเมืองรวม" กำหนดแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2561

ที่ผ่านมากรมได้กำหนดบทบาทเมืองสำคัญในพื้นที่ EEC เช่น จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเมืองใหม่ที่อยู่อาศัยทันสมัย ชั้นดี จังหวัดระยองมีท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ปิโตรเคมี รวมถึงเป็นเมืองการศึกษาและวิทยาศาสตร์ เมืองนานาชาติ ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกของจังหวัดระยองจะคงรักษาให้เป็นพื้นที่ด้านเกษตรกรรมแปรรูปอาหาร ส่วนจังหวัดชลบุรีจะให้เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมเพราะมีท่าเรือแหลมฉบังและมีมอเตอร์เวย์พาดผ่าน รวมถึงจะพัฒนาเมืองใหม่ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้กับพัทยา ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ศูนย์บริการการแพทย์นานาชาติ ส่วนอู่ตะเภาจะให้เป็นศูนย์ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์

นอกจากนี้จะมีกำหนดการพัฒนาเมืองใหม่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง อีกด้วย ได้แก่ สถานีฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และระยอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ