7จังหวัดชงกฎหมายบรรษัทพัฒนาเมืองลุยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภูธร
Loading

7จังหวัดชงกฎหมายบรรษัทพัฒนาเมืองลุยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภูธร

วันที่ : 13 มีนาคม 2560
7จังหวัดชงกฎหมายบรรษัทพัฒนาเมืองลุยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภูธร

เอกชน 7 จังหวัดผนึกพลังชง "กฎหมายส่งเสริมกิจการบรรษัทพัฒนาเมือง" ชี้เป็น นวัตกรรมใหม่ช่วยพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานต่างจังหวัดเป็นระบบรวดเร็ว หนุนปั้นเมืองน่าอยู่ ย้ำกิจการพัฒนาเมือง ต้องยึดโยงภาคประชาชน ปลอดการครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ด้านคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ สนช. รับลูกเตรียมยกร่างเป็นกฎหมาย

นายฐาปนา บุณยประวิตร อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย และผู้ประสานงานกิจการพัฒนาเมือง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาคเอกชน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น ภูเก็ต เชียงใหม่ พิษณุโลก ระยอง สมุทรสาคร และสระบุรี ซึ่งแต่ละจังหวัดได้รวมกลุ่มจัดตั้งบริษัท พัฒนาเมือง จำกัด ขึ้นมาแล้วนั้น โดยทั้งหมดเป็นตัวแทนกิจการพัฒนาเมืองได้รวมตัวกันผลักดันนำเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการบรรษัทพัฒนาเมือง พ.ศ. .... ให้กับคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยได้ประชุมนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาแล้วเมื่อ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปที่สำคัญคือ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ รับร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอเข้าสู่กระบวนการ โดยมีข้อพิจารณาให้คณะทำงานกิจการพัฒนาเมือง นำร่าง พ.ร.บ.ไปปรับปรุงให้ทันสมัย โดยเฉพาะสาระสำคัญ 3-4 ประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการบรรษัทพัฒนาเมืองที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ หมวดที่ 1 เจตนารมณ์และเป้าหมาย จะเป็นกฎหมายที่ไม่เน้นการควบคุม แต่เป็นการส่งเสริม พร้อมทั้งต้องร่วมกับภาครัฐที่จะลงทุนโครงสร้าง พื้นฐาน อาทิ ขนส่งมวลชน มุ่งการสร้างเมืองให้กระชับและน่าอยู่ เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงเรื่องทุนจดทะเบียนที่ในร่างเสนอไว้ที่ 10 ล้านบาท แต่ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ เสนอว่า ทุนจดทะเบียนควรอยู่ที่ 100 ล้านบาท เนื่องจากการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่าค่อนข้างสูง และจำนวนของกิจการที่เข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นต้องมีตั้งแต่ 20 หุ้นขึ้นไป เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กำชับเป็นพิเศษในประเด็นผู้ถือหุ้น ที่ควรปลอดจากอำนาจการครอบงำกิจการ การชี้นำ และอำนาจผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการพัฒนาเมืองภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งควรยึดโยงภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม และกิจการพัฒนาเมือง ควรเป็นในรูปแบบของกิจการ SE (Social Enterprise) ที่ไม่มุ่งทำกำไรเป็นที่ตั้ง แต่นำกำไรไปพัฒนาเพื่อสาธารณะ

"นับเป็นเรื่องที่ดีมากที่รัฐสภาและรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนากิจการพัฒนาเมือง โดยเห็นชอบให้เตรียมตราเป็นกฎหมาย เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวงการพัฒนาเมืองของประเทศ และจะส่งผลให้รูปแบบการกำกับดูแลการพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ ทำได้รวดเร็วขึ้น ความร่วมมือด้านต่าง ๆ ก็จะอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย"

นายฐาปนากล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน อาทิ ในภาพมหภาค ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจะเปลี่ยนไป ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการพึ่งและรอรัฐบาล 100% แต่หากมีกฎหมายนี้ กิจการพัฒนาเมืองจะมีภาคส่วนใหม่ หรือ Agency ใหม่ ที่ภาคเอกชนระดมทุนกันเอง และรัฐบาลอาจสนับสนุนการลงทุนในส่วนอื่น ๆ เช่น ที่ดินที่เป็นของรัฐ เพื่อพัฒนาโครงการร่วมกัน และเป็นการพัฒนาประเทศที่มีเม็ดเงินชัดเจน มีกรอบกฎหมายที่ร่วมมือกันชัดเจน

ขณะที่รูปแบบเมืองจะเปลี่ยนจากที่ไม่เป็นระบบระเบียบ ต่างคนต่างทำ ก็จะเกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น การออกแบบเมืองจะมีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการเดินทางก็จะเปลี่ยนไปตามกิจการพัฒนาเมืองที่มีในแต่ละจังหวัด เช่น เชียงใหม่ จะมีศูนย์การขนส่งรอบเมืองและเชื่อมโยงกับโครงข่ายขนส่งมวลชน และมีศูนย์กลางเชื่อมโยงด้วยระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tram) เป็นต้น

นอกจากนี้ ต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานและค่าบริการก็จะลดลงมาก เพราะหากในอนาคตคนใช้รถยนต์ลดลง และเปลี่ยนมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานจะลดลงไม่น้อยกว่า 10% ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการเปลี่ยนเมืองและพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น เป็นการสร้างเมืองให้มีมาตรฐานน่าอยู่และเป็นเมืองกระชับในอนาคต

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้บริหาร บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากคณะทำงานกิจการพัฒนาเมือง ได้นำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริม กิจการบรรษัทพัฒนาเมือง ไปปรับปรุงให้ทันสมัยแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ตัวแทนกิจการพัฒนาเมืองได้ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภคอีกครั้ง

โดยประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมให้นำเข้าสู่ กระบวนการยกร่างเป็นกฎหมายอย่าง เป็นทางการ โดยให้ตัวแทนคณะทำงานกิจการพัฒนาเมือง 3 คน และผู้เชี่ยวชาญอีก 1 คน ทำงานร่วมกับทีมคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อเร่งผลักดันกฎหมายส่งเสริมกิจการบรรษัทพัฒนาเมืองให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯยังเห็นว่า กฎหมายส่งเสริมกิจการบรรษัทพัฒนาเมือง จะเป็นกฎหมายที่จะช่วยพัฒนาจังหวัด พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ