เอกชนเฮคลังหนุนแก้กม.ลีสโฮลด์หวังดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย
Loading

เอกชนเฮคลังหนุนแก้กม.ลีสโฮลด์หวังดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย

วันที่ : 27 มีนาคม 2560
เอกชนเฮคลังหนุนแก้กม.ลีสโฮลด์หวังดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย

         อสังหาฯ เฮ คลังหนุนแก้ พ.ร.บ.เช่าฯ ขยายเวลาเช่านาน 50 ปี หวังดึงดูดต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย ด้านสมาคมอสังหาฯ ชี้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันประเทศคู่แข่ง มาเลเซีย สิงคโปร์ปล่อยเช่า 99 ปี เผยเรื่องอยู่กระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติ

          นายอธิป พีชานนท์ กล่าวว่า กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ มีแนวคิดที่จะแก้กฎหมายลีสโฮลด์ หรือพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 โดยที่อยู่อาศัยให้สามารถ ทำสัญญาเช่าระยะยาวได้ถึง 50 ปี เพื่อให้อสังหา- ริมทรัพย์ให้เช่ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ให้ความรู้สึกเป็น เจ้าของมากขึ้น มีการซื้อขายเปลี่ยนมือได้ สร้างแรง จูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯไทยมากขึ้น

          นโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการผลักดันกฎหมายดังกล่าวได้อีกทาง เนื่อง จากที่ผ่านมาสัญญาเช่าของไทยถือว่าระยะเวลาสั้นมากคือ 30 ปี เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งเช่น สิงคโปร์ และมาเลเซียที่ปล่อยเช่า 99 ปี, เมียนมา ฟิลิปปินส์ 50 ปี

          ทั้งนี้ หากเพิ่มระยะเวลาเช่าเป็น 50 ปี ก็จะทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยและในภูมิภาค เนื่องจากต้องการที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว แม้ว่าระยะเวลาเพียง 50 ปีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ไทยยังมีสิ่ง ต่างๆ ที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งอีกมาก ทั้งด้านระบบสาธารณูปโภค การท่องเที่ยว ความน่าอยู่ นอกจากนี้ระยะเวลา 50 ปียังถือว่าให้ความรู้สึกเป็น เจ้าของเพิ่มมากขึ้น สามารถโอนไปยังลูกหลานได้ จากเดิมที่ชาวต่างชาติต้องให้ภรรยาชาวไทยซื้อ หรือใช้นอมินี ซึ่งมีความเสี่ยง ส่วนกรณีของสัดส่วน การซื้อคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติที่ปัจจุบันสามารถซื้อได้ไม่เกิน 49% ของจำนวนห้องชุดก็จะถูกปลดล็อกไปโดยอัตโนมัติ โดยจะหันมาใช้สัญญาเช่าแทน

          ที่ผ่านมา 3 สมาคมอสังหาฯ ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยที่เป็นกระทรวงหลักในการกำกับ ดูแล พ.ร.บ. เช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม โดยเสนอให้เพิ่มที่อยู่อาศัยเข้าไปด้วย ซึ่งจะทำให้สัญญาเช่าที่อยู่อาศัยจะเพิ่มเป็น 50 ปี ตามอสังหาฯเพื่อพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณา อนุมัติแก้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแล้วและเสนอไปยังกระทรวงยุติธรรม แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในช่วงเดือนธันวาคม 2559 และเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใหม่จึงทำให้ในปัจจุบันเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งหากกระทรวงการคลังสนับสนุนการแก้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็เชื่อว่าจะทำให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เร็วขึ้น

          "ระยะเวลาเช่า 50 ปี ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง แต่ก็ถือว่ามากพอสำหรับช่วงเวลานี้ และไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นกฎหมายขายชาติ เพราะเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าที่ดิน สิ่งปลูกสร้างก็จะตกเป็นของคนไทยเหมือนเดิม เหมือนในประเทศอื่นๆ ส่วนกรณีที่จะทำให้ธนาคารเพิ่มวงเงินกู้ให้นั้น เชื่อว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารนั้นๆ และขึ้นอยู่กับคุณสมบัติผู้กู้ด้วย ว่ามีคุณสมบัติในการชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใดด้วย" นายอธิปกล่าว

          นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ชาวต่างชาติเช่าได้เกินกว่าระยะเวลา 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี ซึ่งผู้เช่าและผู้ให้เช่าอาจตกลงกันต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีกได้มีกำหนดไม่เกิน 50 ปี นับแต่วันที่ตกลงกัน แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างยุ่งยากและมีผู้ใช้น้อยมาก แต่หากสามารถ ปรับแก้ไขได้ ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นช่องทางให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองได้ยาวถึง 50 ปี และ เป็นทรัพย์สินให้ทายาทสามารถรับช่วงสิทธิ์ต่อได้จนครบกำหนดระยะเวลา อีกทั้งยังสามารถนำเป็นหลักทรัพย์วางหลักทรัพย์กับสถาบันการเงินได้ อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

          นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิทธิการเช่าระยะยาวต้องมีกฎหมายใหม่รองรับ เพื่อทำให้สัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินขึ้นมา ซึ่งในต่างประเทศมีการทำในหลายรูปแบบ การให้เช่า 50 ปี และสามารถต่อสัญญาได้ เช่น 30 ปี+30 ปี เป็นต้น ซึ่งผู้เช่าสามารถใช้สิทธิการเช่าดังกล่าวไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้ผู้เช่าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือ สินเชื่อได้ จากเดิมที่สถาบันการเงินไทยจะไม่รับสิทธิการเช่ามาเป็นหลักประกัน หรือหากเป็นหลักประกันได้ก็ประเมินมูลค่าต่ำมาก

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ