บังคับตึกสร้างใหม่ 9 ประเภท ยึดแบบประหยัดพลังงาน นำร่องอาคารใหญ่ใช้ปีหน้า
Loading

บังคับตึกสร้างใหม่ 9 ประเภท ยึดแบบประหยัดพลังงาน นำร่องอาคารใหญ่ใช้ปีหน้า

วันที่ : 19 เมษายน 2560
บังคับตึกสร้างใหม่ 9 ประเภท ยึดแบบประหยัดพลังงาน นำร่องอาคารใหญ่ใช้ปีหน้า


         
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทยเตรียมบังคับ  9 ประเภทอาคาร ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน (หอประชุม) โรงมหรสพ โรงแรมอาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า ที่จะสร้างใหม่ หรือต่อเติมต้องออกแบบอาคารตามมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน  2552 (บีอีซี) ซึ่ง จะมีตัวชี้วัดต่าง ๆ อาทิ ระบบกรอบอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่างระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน การใช้พลังงานโดยรวมในอาคารและการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่าง ๆ ของอาคาร

          ทั้งนี้จะนำร่องอาคารขนาดใหญ่พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไปก่อนในต้นปี 61 และทยอยบังคับใช้กับอาคารพื้นที่ตั้งแต่ 5,000   ตร.ม. ภายในปี 62 และตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ในปี 63 โดยที่ผ่านมา พพ.ได้ผลักดันให้ออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงานโดยนำร่องให้อาคารใหม่ที่มีขนาดตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องออกแบบและก่อสร้างอาคารภายใต้เกณฑ์บีอีซีตั้งแต่ปี 52 จนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 450 อาคาร

          "พพ.ได้ขอความร่วมมือให้อาคารรัฐและเอกชนส่งแบบอาคารมาให้ พพ. ตรวจประเมินก่อนเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบีอีซี ตั้งแต่ปี 52 จนถึงปัจจุบันแล้ว 450 อาคาร โดยเป็นอาคารใหม่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป แบ่งเป็นอาคารรัฐ 378 อาคาร อาคารเอกชน

          72 อาคาร ส่งผลให้เกิดการประหยัดไฟฟ้าได้ สูงถึง 225 ล้านหน่วย คิดเป็นผลประหยัดได้ 780 ล้านบาท รวมทั้งยังได้ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนได้สูงถึง 1.3 แสนตันคาร์บอนอีกด้วย"

          ทั้งนี้ พพ.ได้เตรียมแผนงานเพื่อผลักดันมาตรการต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีการบังคับใช้โดยได้ร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในการแก้ไขกฎกระทรวงพร้อมกับการเข้าไปดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคารที่ได้รับการตรวจประเมินและที่ได้รับใบรับรองแล้วเพื่อติดตามสถานภาพการก่อสร้างว่าเป็นไปตามเงื่อนไขการรับรองหรือไม่ รวมทั้งจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาใน

          การนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในการเรียนการสอนของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนำร่องไปแล้ว 6 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยรังสิตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

          นอกจากนี้ จะร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อจัดกิจกรรมให้ความรู้การประชาสัมพันธ์เรื่องอาคารและบ้านประหยัดพลังงานสู่ผู้บริโภคการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในการ

          ออกแบบอาคารและบ้านประหยัดพลังงานการผลักดันและกระตุ้นตลาดการก่อสร้างอาคารและบ้านประหยัดพลังงานให้แพร่หลายซึ่งที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 5 ราย ได้แก่ ปูนซิเมนต์ไทย, พฤกษา เรียลเอสเตท, เซ็นทรัลพัฒนา, อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ และนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ ส่งเสริมการออกแบบอาคารและที่อยู่อาศัยเพื่ออนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้พลังงานมาก เช่น ภาคขนส่ง ภาคอาคารธุรกิจ

          "อย่างไรก็ดีจะบูรณาการการทำงานกับภาคขนส่งซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานมากเช่น สมาพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยโดยในอนาคตอาจกำหนดให้ใช้ยางรถยนต์แบบประหยัดพลังงานรวมถึงจะเข้าไปหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)เพื่อบูรณาการการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมด้วย"

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ