ภาษีที่ดินมีผล 1ม.ค. คลังชี้กรณีรกร้างจ่ายสูงสุดถึง 5%
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนแสดงความเห็นหรือเสนอแนะต่อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประกาศใช้ล่าสุดที่ผ่านมา โดยขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คาดว่าจะพิจารณาครบทุกวาระภายในปีนี้ และกฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป
สำหรับอัตราภาษี ในร่างกฎหมายได้กำหนดอัตราสูงสุด ของภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มีอำนาจจัดเก็บได้ ดังนี้
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษี ไม่เกิน 0.2% ของราคาประเมิน
2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.5%
3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 2% และ
4. ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ให้มีอัตราภาษี ไม่เกิน 2%
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ อปท.จะจัดเก็บจริงจาก ผู้เสียภาษี จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและจะกำหนดอัตราภาษีอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาททุกแปลง
นอกจากนี้ ในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ให้เรียกเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปีที่ 4 ในอัตรา 0.5% เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีที่จัดเก็บ และหากยังทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ ให้เพิ่มอัตราภาษีอีก 0.5% ในทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีที่เสียรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 5%
แหล่งข่าว กล่าวว่า ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง จะใช้จัดเก็บภาษีจากทรัพย์สิน ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษี ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นปัญหาของการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน รวมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ และ อปท. โดยจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับ อปท.นำไปพัฒนาท้องถิ่นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กระทรวงการคลัง ถึงผลดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ด้วยว่า ปัจจุบัน กอช.มีจำนวนสมาชิก 5.32 แสนราย มีอัตรา 55% ที่เป็นเกษตรกร แต่การนำส่งเงินสะสมของกลุ่มเกษตรกรมีเพียง 27% เท่านั้น
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ชี้แจงว่าสาเหตุที่การนำส่งเงินสะสมของกลุ่มเกษตรกรเพียง 27% นั้น เนื่องจากในปีที่ผ่านมารายได้ของเกษตรกรลดต่ำลงเพราะส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับฤดูกาลเก็บเกี่ยวและราคาพืชผลการผลิต อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ รัฐบาลได้คาดว่า ผลิตผลทางการเกษตรจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้มากขึ้น ช่วยให้การนำส่งเงินดีขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า