เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รัฐบาลนำทางสู่ความมั่งคั่ง
Loading

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รัฐบาลนำทางสู่ความมั่งคั่ง

วันที่ : 1 มิถุนายน 2560
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รัฐบาลนำทางสู่ความมั่งคั่ง

การพัฒนาให้ ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียน แม้จะมีความพยายามร่างนโยบายหรือผลักดันโครงการภายใต้รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แต่การขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงเพิ่งเกิดขึ้นอย่างจริงจังในรัฐบาลชุดนี้ภายใต้การบริหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หลังจากพลเอกประยุทธ์ได้ประกาศจัดตั้ง เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรอบประเทศจากเหนือสุดถึงใต้สุด รวม 10 จังหวัด เพื่อมุ่งหวังให้นโยบายนี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งหวังกระจายความเจริญลงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ หรือเป็นประตูการค้าบานสำคัญที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ ผ่านการค้าขาย สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชนในจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษและใกล้เคียง

นับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วกับการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวจนมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ โดยในการพัฒนาได้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะแรกนำร่องพื้นที่ 5 จังหวัดที่มีการค้าชายแดนสูง ประกอบด้วย ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา 2 ด่าน (ด่านสะเดา-ด่านปาดังเบซาร์) ทั้ง 5 จังหวัดนี้ได้เริ่มคิกออฟแล้วตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่ระยะที่ 2 คือ หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี กำลังผลักดันให้เดินตามมาอย่างติด ๆ เพื่อให้การดำเนินงานใน 10 จังหวัด 11 รวม 3.88 ล้านไร่ บรรลุความสำเร็จตามเป้าประสงค์

การบริหารนโยบายสำคัญครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะเป็น ประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ด้วยตัวเอง พร้อมกับสั่งการให้จัดทำ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการเปิดตลาดเสรีอาเซียน และการผลักดันการค้าชายแดนของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง โดยมีหลักการดำเนินงานภายใต้กฎหมายปัจจุบันและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

แผนงานสำคัญที่ กนพ. ไฟเขียวมีอยู่ด้วยกัน 6 แนวทาง คือ การส่งเสริมการลงทุนและอำนวยความสะดวกการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ, การพัฒนายกระดับกิจกรรมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ล การจัดโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการขนส่ง การผ่านแดนไฟฟ้า น้ำประปา สาะารณสุข แรงงานและสิ่งแวดล้อม, การให้ประชาชนและภาคี การพัมนามีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์การเสริมสร้างความสามารถของวิสาหกิจชุมชนและภาคเอกชนในพื้นที่ และสุดท้ายคือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่การมอบสิทธิประโยชน์การลงทุนปัจจุบันนี้ได้มีเอกชนทยอยเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว หลังรัฐบาลประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ดูแลโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งหใสิทธิประโยชน์ระดับสูงสุด ด้วยการผ่อนปรน เงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก (เอสเอ็มอี) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมกำหนดกิจการเป้าหมายสำหรับการลงทุน นอกจากนี้สำหรับโครงการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ก็ช่วยส่งเสริมด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่นเดียวกับผ่อนปรนเงื่อนไขการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน และการจัดสินเชื่อเพื่อการลงทุน

การส่งเสริมที่ดูแลโดยบีโอไอยังมีสิทธิพิเศษอ้าแขนรับนักลงทุนอีกมาก อาทิในกรณีกิจการทั่วไปและกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่มจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ลดหย่อนอีก 50% เป็นเวลา 5 ปี พร้อมผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้ โดยเอกชนต้องยื่นใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558- 31 ธ.ค. 2560

การส่งเสริานอกเหนือจากบีโอไอ กรมสรรพากร พร้อมลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เหลือ 10% เป็นเวลา 10 รอบบัฐชี โดยต้องยื่นใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 10 ก.ย. 2558- 31 ธ.ค. 2560 ขณะที่กรมศุลกากร จะลดทุนจดทะเบียนของผู้ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปจาก 10 ล้านบาท เหลือ 5 ล้านบาท และกำหนดเขตปลอดอากรต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

นอกจากนี้รัฐยังผ่อนปรนเงื่อนไขให้เอสเอ็มอีที่จะมาลงทุนต้องมีเงินทุน ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และยังอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท เช่นเดียวกับการจัดสินเชื่อเพื่อการลงทุนของ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ได้จัดสินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่หรือขยายกิจการในเขตเศรฐกิจพิเศษ มีวงเงินสินเชื่อระยะยาว 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้เอกชนได้รับวงเงินหมุนเวียนระยะสั้นเพิ่ม

ด้วยอานิสงส์ของสิทธิประโยชน์ทั้งหมดล่าสุดได้ต้องตาต้องใจเอกชนรายน้อยใหญ่ทั้งจากนักลงทุนข้ามชาติ นายทุนใหญ่ในประเทศ รวมถึงนายทุนภูธร ล้วนแห่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ตัวเลขการลงทุนล่าสุด ณ เดือน เม.ย. 2560 ของบีโอไอ รายงานว่า บรรดาเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ เข้ามาลงทุนรวมกว่า 40 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 8,578.7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนที่จังหวัดตาก มากที่สุดถึง 22 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 3,541.9 ล้านบาท ไล่ตั้งแต่เอกชนไทย ไตหวัน และจีน มาลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง การก่อสร้าง การผลิตพลาสติก อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร

นายมงคล ตันสุวรรณ ประธานหอการค้ากลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2  (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม) กล่าวว่า นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลที่เริ่มต้นทำในครั้งนี้ถือว่ามาถูกทาง เพราะจุดมุ่งหมายจะช่วยให้เกิดการค้าและการลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มภาคเหนือตอนบนที่ตอนนี้มีจังหวัดมุกดาหาร เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ผ่านมาการค้าก็มีความคึกคักแต่การลงทุนยังน้อยอยู่ ดังนั้นรัฐบาลควรจะต้องคอยช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น และต้องทำให้เกิดความชัดเจนสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมให้การสนับสนุนอยู่แล้ว หากนโยบายดังกล่าวเดินหน้าไปได้ด้วยดี

สอดคล้องกับ นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวสนับสนุนว่า การดำเนินนโยบายครั้งนี้ของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และช่วยกระจายความเจริญลงมายังพื้นที่ด้วยการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดสงขลาอาจมีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้นักลงทุนยังไม่ค่อยสนใจเข้ามาลงทุน เพราะจังหวัดแห่งนี้ไม่ใช่พื้นที่ในเชิงอุตสาหกรรม แต่ทางด้านการค้าผ่านด่านชายแดน ถือว่า เป็นสิ่งที่คึกคักและเป็นด่านหลักในการสร้างรายได้ให้กับประเทศมาโดยตลอด ซึ่งภาครัฐควรจะต้องมองจุดนี้ และเพิ่มแนวทางมาสนับสนุนแบบเฉพาะเจาะจง

จากตัวเลขการลงทุนและเสียงสะท้อนของภาคเอกชนข้างต้นจึงการันตีได้ว่า นโยบาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ขณะเดียวกันช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนฐานราก พร้อม ๆ กับทะยานเข้าสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ