รื้อกม.ภาษีที่ดินฯกรรมาธิการปรับแก้สร้างสมดุล
Loading

รื้อกม.ภาษีที่ดินฯกรรมาธิการปรับแก้สร้างสมดุล

วันที่ : 14 มิถุนายน 2560
รื้อกม.ภาษีที่ดินฯกรรมาธิการปรับแก้สร้างสมดุล

รื้อกม.ภาษีที่ดินฯกรรมาธิการปรับแก้สร้างสมดุล

 

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่านวาระแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมีหลายประเด็นที่สมาชิก สนช.ขอแปรญัตติ ขณะที่กรรมาธิการก็มีความเห็นที่แตกต่างจากร่างต้นฉบับ ทำให้ต้องขอขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน

 

อภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... เปิดเผยว่า กรรมาธิการได้ขอขยายเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปอีก 60 วัน เนื่องจากยังมีบางมาตราที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ แต่การขยายเวลาพิจารณาไม่น่าจะกระทบต่อการประกาศใช้กฎหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้

 

สำหรับการพิจารณากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในชั้นกรรมาธิการจะให้ความสำคัญต่อปรัชญาของกฎหมายฉบับที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและลดความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งเน้นไปที่วิธีการปฏิบัติเป็นหลักให้เกิดประโยชน์ที่สมดุลกันระหว่างผู้จัดเก็บภาษีและผู้จ่ายภาษี

 

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นของสมาชิก สนช.ที่แปรญัตติเอาไว้ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ ทำให้เนื้อหาในบางมาตราอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอนทั้งสภา คณะรัฐมนตรี กฤษฎีกา จึงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก

 

ขณะที่ รายงานจาก สนช.เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้มีการพิจารณาไปเกือบครบทุกมาตราแล้ว แต่มีบางมาตราที่สำคัญที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เช่น การกำหนดอัตราขั้นต่ำของการยกเว้นภาษีให้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ที่ส่งมากำหนดที่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้น ซึ่งกรรมาธิการบางท่านมีความเห็นว่าจะเกิดความไม่เป็นธรรม

 

ยกตัวอย่าง เช่น กรณีถือครองบ้าน 2 หลัง ราคา 5 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กลับต้องเสียภาษีในส่วนที่เป็นบ้านหลังที่ 2 แต่สำหรับคนที่ถือครองบ้านหลังเดียวแต่ราคา 40 ล้านบาท กลับไม่ต้องเสียภาษี จึงมีความเห็นให้มีการปรับลดมูลค่าบ้านที่จะได้รับการยกเว้นลงมา กรรมาธิการบางท่านเห็นว่าควรจะลดลงมาไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งในประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะลด หรือคงตามเดิม

 

นอกจากนี้ ยังพิจารณาในเรื่องของระเบียบวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการประเมิน รวมถึงการจัดเก็บภาษี ซึ่งต้องไม่เปิดโอกาสที่จะให้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เนื่องจากจะเป็นช่องทำให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชั่น และสร้างความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีขึ้นได้

 

ขณะเดียวกัน เรื่องของมาตรการบรรเทาภาษียังได้มีการพิจารณาถึงมูลเหตุแห่งการบรรเทาภาษีเพิ่มเติม เช่น เจ้าของที่ดินที่ประกอบกิจการแต่กิจการอยู่ในสถานะขาดทุน หรือผลประกอบการไม่ดี จะมีการบรรเทาภาษีได้อย่างไร หรือในกรณีบุคคลทั่วไปแต่ได้รับ

 

มรดกที่ดินมูลค่าสูงก็ต้องพิจารณาเรื่อง รายได้ของวิชาชีพประกอบด้วย

 

สำหรับเรื่องการประชาสัมพันธ์ก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องพิจารณาเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดภาพด้านลบกับประชาชนผู้มีหน้าที่ในการเสียภาษี รวมถึงประชาชนที่อยู่ต่างประเทศไม่รู้หน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ จะต้องมีวิธีการดำเนินการอย่างไรให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร

 

ทั้งนี้ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายมาตรา แต่ขณะนี้ยังได้ข้อยุติในชั้นกรรมาธิการที่พยายามจะปรับปรุงให้กฎหมายบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างสมดุลทั้งในแง่ของประโยชน์จากการเพิ่มรายได้เข้ารัฐและประชาชนยอมรับได้ โดยเฉพาะการจัดเก็บในช่วงเริ่มต้นควรเป็นไปในลักษณะค่อยเป็น ค่อยไป ไม่สร้างผลกระทบหรือภาระให้กับประชาชนมากเกินไป แล้วค่อยๆ สร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้เห็นประโยชน์จากการเก็บภาษี ซึ่งเงินทั้งหมดจะถูกนำกลับมาสร้างความเจริญในแต่ละท้องถิ่น

 

กว่าที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะบังคับใช้ในปี 2562 คงมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระไปจากเดิมไม่มากก็น้อย ซึ่งต้องคอยจับตาดูกันต่อไป

 

กฎหมายยังขาดความชัดเจน

 

อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า กฎหมายนี้มีการบังคับแน่นอน แต่ในช่วงแปรญัตติที่คณะกรรมา ธิการฯ พิจารณารายละเอียดในร่างฯ นั้น เห็นว่ายังขาดความชัดเจนโดยเฉพาะการตีความ เพราะจะส่งผลต่อการเสียภาษีที่แตกต่างกันอย่างมาก เช่น สต๊อกบ้านสร้างเสร็จรอขายถือว่าเป็นพาณิชยกรรมหรือที่อยู่อาศัย

 

ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาโครงการมูลค่า 100 ล้านบาท ถ้าตีเป็นพาณิชย์เสียภาษีในอัตรา 0.7% แต่ถ้าเป็นที่พักอาศัยจะอยู่ที่ 0.25% แต่ส่วนใหญ่จะพัฒนาเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้การเสียภาษีต่างกันถึง 3 เท่า นอกจากนี้พื้นที่เกษตรเมื่อปล่อยเช่าจะเก็บภาษีพาณิชย์ หรือเกษตร เป็นต้น

 

"เพดานภาษีที่ออกมาในขณะนี้เห็นด้วย เพราะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ต่างจากช่วงแรกที่เพดานสูง เช่น เดิมเพดานเกษตรกรรม 0.5% ปรับมาอยู่ที่ 0.2% ซึ่งต่างกันเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ส่วนอัตราเพดานการยกเว้น ถ้ากำหนดต่ำเช่น 10 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีมีซัพพลายเข้ามาประมาณ 3,000 ยูนิต ก็จะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น อย่างไรก็ดี เมื่อมีการบังคับใช้แล้วยังสามารถออกประกาศลดหย่อนได้เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ" อิสระ กล่าว

 

นอกจากนี้ ประเด็นการบรรเทาภาระภาษียังต้องมีความชัดเจนด้วยกรณีซื้อที่ดินมาและยังไม่ได้พัฒนาใน 3 ปีจะนับจากที่ได้มาหรือตั้งแต่ขออนุญาต เพราะไม่เช่นนั้นจะนำมาอ้างว่ารอการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทาง 3 สมาคมธุรกิจอสังหาฯ ได้มีการนำเสนอว่า การพัฒนาแนวราบได้รับการบรรเทาต่อเมื่อได้รับอนุญาต ส่วนอาคารชุดได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง

 

กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก คือ เจ้าของที่ดินในเมืองที่นำไปปล่อยเช่าซึ่งค่าเช่าอาจะไม่พอเพียงต่อการเสียภาษี และที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งจะต้องเสียภาษีแบบขั้นบันได ดังนั้นจะมีการผลักดันที่ดินออกสู่ตลาดมากขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ