ชงโครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี 6.4หมื่นล.
สั่งกนอ.กำหนดพื้นที่ส่งเสริม อุตสาหกรรมเป้าหมาย รายคลัสเตอร์
"สมคิด" เผยหน่วยงานเตรียมชง โครงสร้างพื้นฐาน 6.4 หมื่นล้านเข้าบอร์ดนโยบายอีอีซี พบประธานเจซีซีย้ำญี่ปุ่นพร้อมดึงนักลงทุนสนับสนุนโครงการกระทรวงเมติ เตรียมเยือนไทย ก.ย.นี้ ด้าน"อุตตม" สั่ง กนอ. จัดหาพื้นที่เหมาะสมรายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายใน อีอีซี ประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ พร้อมจัดพื้นที่นิคมฯละ 40 ไร่ สร้างโรงงานสำเร็จรูปรองรับเอสเอ็มอี พร้อมตั้งห้องแล็บพัฒนาสินค้าต้นแบบ ด้าน สมาพันธ์ นักธุรกิจยุโรป สนลงทุนอุตฯชีวภาพ อาหารแปรรูป ดิจิทัล ลงทุนพัฒนาบุคลากรรองรับระยะยาว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เร็วๆ นี้ที่ประชุมจะหารือโครงการสำคัญต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันโครงการอีอีซีให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้านการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจัดเตรียมรายละเอียดด้านต่างๆ มานำเสนอให้นายกฯ พิจารณา
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมบอร์ดอีอีซีครั้งนี้ จะหารือกันถึงแผนผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานด้านต่างๆ เข้ามาให้นายกฯพิจารณา โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า วงเงินประมาณ 64,300 ล้านบาท โดยจะเป็นทางคู่ที่เชื่อม 2 ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ซึ่งเป็นรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแหลมฉบัง - ปลวกแดง -ระยอง ที่เป็นโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐและเส้นทางมาบตาพุด - ระยอง -จันทบุรี - ตราด ที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา
สำหรับการหารือกับนายโซจิ ซาคาอิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาประธานเจซีซี ยืนยันว่าจะช่วยประสานสมาชิกที่เป็น นักธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาสนับสนุนโครงการอีอีซีของไทย และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงนักธุรกิจญี่ปุ่นกับไทย พร้อมกันนี้ยังรับทราบว่า ในวันที่11ก.ย.นี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น จะนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นมาเยือนไทยด้วย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงไปกำหนดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายรายคลัสเตอร์ให้ชัดเจน เช่น เขตพื้นที่คลัสเตอร์ปิโตรเคมี คลัสเตอร์ไฟฟ้า อิเล็กทอรนิกส์ คลัสเตอร์หุ่นยนต์ คลัสเตอร์เมดิคัลฮับ คลัสเตอร์ยานยนต์ เป็นต้น เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจตั้งฐานผลิตได้ง่ายขึ้น และภาครัฐก็จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับได้อย่างเหมาะสม เช่น คลัสเตอร์ หุ่นยนต์ ก็ควรจะอยู่ใกล้ฐานการผลิต รถยนต์เดิม เพราะใช้ชิ้นส่วนที่ใกล้เคียงกัน คลัสเตอร์เครื่องมือทางการแพทย์ และ เมดิคัลฮับ ก็ควรจะอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา เพราะสะดวกในการเข้าออกของผู้ป่วย หรือเข้ามาพักฟื้นร่างกายชาวต่างชาติ
"ขณะนี้ กนอ. กำลังศึกษาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ในอีอีซีอย่างละเอียด เพื่อกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ซึ่งเป็นการย่นเวลาการศึกษาพื้นที่ของนักลงทุน และเกิดการลงทุนได้ เร็วขึ้น ซึ่งหลังจากที่ได้พื้นที่ในแต่ละคลัสเตอร์ชัดเจนแล้วก็จะประการเป็นเขตส่งเสริมพิเศษต่อไป"
นอกจากนี้ ยังให้ กนอ. ลงไปจัดทำพื้นที่ เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นการเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆใน อีอีซี รวมทั้งจะมีการกำหนดพื้นที่ส่วนกลางตั้ง "โคเวิร์คกิ้งสเปซ" ที่จะมีเครื่องมือ อุปกรณ์เบื้องต้น เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องสแกน 3 มิติ เป็นต้น ให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาระดมสมองวิจัยพัฒนาสินค้าต้นแบบใหม่ๆ ซึ่งอาจจะร่วมมือกับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัล แล็บ ไทย เข้ามาต้องห้องแล็บ พื้นที่ อีอีซี รวมทั้งประสานกับ สถาบันการศึกษาต่างๆในการเปิดให้ ห้องแล็บให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไปใช้งาน ส่วนการผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่งนั้น รัฐบาลได้ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ซึ่งจะมุ่งเน้น ในการดึงดูดเอสเอ็มอีเข้าไปลงทุนให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กนอ. ได้ดูแลจัดตั้งนิคมฯ ใน 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ จึงมีแผนที่จะให้ กนอ. เข้าไปพัฒนานิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแห่งอื่นๆเพิ่ม ขณะนี้กำลังศึกษาว่าควรจะเข้าไปทำในพื้นที่ใดบ้าง
นายอุตตม กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาพันธ์ นักธุรกิจยุโรป ที่มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้เข้ามาหารือเรื่องการลงทุนใน อีอีซี ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนยุโรปต้องการเข้ามาตั้งจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ อาหารแปรรุป ดิจิทัลที่ใช้ Internet of Things(IoT) รวมทั้งยังเสนอที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต เพราะนักลงทุนเหล่านี้ต้องการดำเนินธุรกิจระยะยาวในไทย จึงต้องสร้างคน ขึ้นมารองรับ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. กำลังศึกษาหาพื้นที่ว่างในนิคมต่างๆในพื้นที่ อีอีซี ที่มีจำนวน 12 แห่ง เป็นของ กนอ. 1 แห่ง ที่เหลือเป็นของเอกชน เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้โรงงานที่เข้ามาตั้งสามารถ เชื่อมโยงการผลิตตั้งแต่ต้นนำถึงปลายน้ำ ซึ่งใน 1 นิคมฯอาจจะมีพื้นที่สำหรับหลายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมได้
ในส่วนของการจัดหาพื้นที่รองรับ เอสเอ็มอีนั้น ได้เข้าไปหารือผู้พัฒนานิคมฯทั้ง 12 แห่ง เพื่อกันพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ต่อ 1 นิคมฯ จัดทำโรงงานสำเร็จรูปสำหรับจำหน่ายหรือให้เอสเอ็มอีเช่า มีพื้นที่ตั้งแต่ 500-1,000 ตารางเมตร เพื่อตั้งโรงงานขนาดเล็ก มีอัตราค่าเช่าประมาณ 90-140 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นราคาพิเศษในการสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยในขณะนี้นิคมฯของเอกชนบางแห่งก็ได้จัดสรรพื้นที่สำหรับเอสเอ็มอี ไว้แล้ว เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่เข้ามา รองรับการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนยุโรปต้องการเข้ามาอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ อาหารแปรรุป ดิจิทัลที่ใช้ Internet of Things เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ