ชลบุรีหนุนอีอีซีให้เกิดคนในพื้นที่ได้อานิสงส์
"คณิศ" สรุปผลลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจ.ชลบุรี เสียงส่วนใหญ่หนุนการพัฒนาอีอีซีให้เกิดขึ้น เชื่อประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ทุกด้าน ชี้แนะให้ภาครัฐให้ความสำคัญจ้างงานคนในพื้นที่ และการท่องเที่ยว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยถึงผลการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีว่า ในการลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอีอีซี และเห็นถึงโอกาสจากการพัฒนา เนื่องจากประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาโดยตรง ซึ่งจะเป็นเมืองการบินและแหล่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอนาคต
แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาจากการพัฒนา เช่น การรับรู้และความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับอีอีซียังไม่ทั่วถึง และมีผลกระทบต่อราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงปัญหาจราจรที่มีความแออัดและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งรองรับการพัฒนาอีอีซีจะต้องเพียงพอ และเชื่อมโยงกันทุกระบบ เช่น การเชื่อมต่อระบบรางกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อขนส่งสินค้า ขณะที่การลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เกรงว่าผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนไทยควรจะได้โอกาสในการลงทุนด้วย และควรจะให้ความสำคัญกับการจ้างงานคนในพื้นที่
โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาอีอีซีจะต้องมีการลงพื้นที่และสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงโอกาสและผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างทั่วถึง และขอให้มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยว เนื่องจากชลบุรี มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การพัฒนาเมืองรองรับนักท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงควรพัฒนาการท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ตลอดจนขอให้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวพัทยาให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น
อีกทั้ง ขอให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนควบคู่กับการพัฒนาการวิจัยและเทคโนโลยี รวมถึงให้มีการเตรียมการรองรับการขยายตัวของชุมชน โดยการออกแบบและพัฒนาเมืองในรูปแบบของเมืองอัจฉริยะ
นายคณิศ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องและขอเสนอแนะต่างๆ นั้น การดำเนินงานจะให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และการจัดทำแผนพัฒนา จะวางแผนตามศักยภาพของพื้นที่ โดยจะพิจารณาร่วมกับแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาภาค พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาเดิมในพื้นที่ควบคู่กัน มีการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและสาธารณูปการทั้งระบบรองรับ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หากเป็นนักลงทุนต่างชาติ จะมีข้อกำหนดให้ร่วมลงทุนกับนักลงทุนไทย และส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนในพื้นที่ ทั้งนี้การพัฒนาอีอีซีมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ทั้งการเพิ่มการจ้างงานและรายได้ การยกระดับคุณภาพชีวิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ