จัดผังใหม่ อีอีซี 3จังหวัดรวมเป็นเนื้อเดียว-เอื้อลงทุน
กรมโยธาฯเร่งปูผังเมืองคลุม 3 จังหวัดอีอีซี จัดโซนส่งเสริมลงทุนใหม่ อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว-ผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะชุมชนรอบอู่ตะเภา 12,500 ไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์
ปัญหาหรืออุปสรรคของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนกำลังเรียกร้องถึงความชัดเจนในการประกาศใช้ผังเมือง ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุน ล่าสุดก็มีความคืบหน้าจากกรมโยธาธิการฯว่า ขณะนี้ได้งบประมาณมาเพื่อทำการศึกษาแล้ว และจะช่วยสร้างความชัดเจนได้ในเร็ววันนี้
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า อยู่ระหว่างมอบให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาวางผังนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี 3 จังหวัด รวมเป็นเนื้อเดียวกัน ประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับแก้ผังเมืองรวมจังหวัด ผังเมืองรวมชุมชน ฯลฯ ของแต่ละพื้นที่ให้สอดรับกับกิจกรรมที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกำหนด
ขณะเดียวกัน ผังดังกล่าวจะรวมระบบโครงสร้างพื้นฐานเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อกำหนดกิจกรรมให้พัฒนาเกาะเกี่ยวไปตามโครงข่ายนั้นๆด้วย โดยเฉพาะทำเลรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงโซนส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ โซนเมืองใหม่ ที่จะกำหนดเป็นรูปแบบสมาร์ทซิตี ทำให้ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ซึ่งเมืองใหม่จะมีครบทั้ง 3 จังหวัดเบื้องต้นจะเน้นจังหวัดฉะเชิงเทราก่อนตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดี อย่างไรก็ดี การศึกษาวางผังอีอีซี จะใช้เวลา 1 ปีนับจากนี้
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเสริมว่า กรมได้รับจัดสรรงบกลางปี 2560 วงเงิน 75 ล้านบาท แยกเป็นวงเงิน 60 ล้านบาท ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทำผังเมืองอีอีซีครอบคลุม 3 จังหวัด อย่างไรก็ดีจะกำหนด เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่อีกกว่า 10,000 ไร่ โดยไม่ขยายพื้นที่เพิ่มที่แหลมฉบัง แต่พิจารณาพื้นที่อื่นไม่ห่างจากแหล่งอุตสาหกรรมเดิม และไม่กระทบชุมชน ซึ่งคณะกรรมการอีอีซี จะเป็นผู้กำหนดออกมาอีกครั้ง ส่วนโซนท่องเที่ยวจะกำหนดโซนชายทะเล เช่น พัทยา บางเสร่ ที่จะกำหนดเป็นพัทยา 2 จากนั้นจะเป็น โซนเกษตรที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว ซึ่งจะอยู่ที่จังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ ระหว่างที่ผังอีอีซียังไม่บังคับใช้ หากเอกชนประสงค์ใช้ที่ดินเพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงาน หากพื้นที่บริเวณดังกล่าวผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือประเภทชนบทและเกษตรกรรม สามารถขอปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมได้เป็นต้น
ส่วนงบประมาณอีก 15 ล้านบาทจะเป็นงบศึกษาพื้นที่ชุมชนบริเวณรอบสนามบินอู่ตะเภารัศมี 20 ตารางกิโลเมตรหรือ12,500 ไร่ เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะกำหนดโซนพัฒนาเชิงพาณิชย์รองรับมหานครการบินอู่ตะเภา
โดยสนามบินอู่ตะเภา มีพื้นที่ติดทะเลทางตอนเหนือ ของสนามบิน จะตัดทิ้งไม่นำมารวมในแผนศึกษา เนื่องจากเป็นเขตป่า โซนที่คาดว่าจะกำหนดให้พัฒนาเชิงพาณิชย์จะเป็นบริเวณรอบทางหลวงหมายเลข 331 (สัตหีบ-เขาหินซ้อน) ซึ่งอยู่ด้านใต้ของสนามบิน ทำเลบริเวณชุมชนด้านซ้ายสนามบินจะครอบคลุมท่าเรือจุกเสม็ด สัตหีบ จังหวัดชลบุรี และชุมชนด้านขวาของสนามบินครอบคลุมพื้นที่บ้านฉางจังหวัดระยอง รวมถึงทำเลรอบสถานีรถไฟความ เร็วสูงที่วิ่งไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 331
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ