เท212ล.ให้สนง.อีอีซีลุย8แผนงาน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้จัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 60 จำนวน 212.27 ล้านบาทให้กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานอีอีซี ค่าจัดทำแผนการลงทุน ค่าเสริมสร้างภาพลักษณ์และการสื่อสาร ค่าจัดทำมาตรการชักชวนนักลงทุน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและดำเนินกิจกรรมในต่างประเทศ โดยให้เบิกจ่ายจากงบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาอีอีซีใน 8 แผนงานย่อย ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบและบริการโลจิสติกส์ต่อเนื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ การพัฒนาศูนย์กลางการเงิน การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี การพัฒนาเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง และการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
ก่อนหน้านี้นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานอีอีซี ระบุว่า อีอีซีเป็นทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 โดยสานต่อจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิมให้เป็นอีอีซี เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นที่ดึงโตเกียวเป็นศูนย์กลางแล้วดึงจังหวัดรอบ ๆ มาพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างกัน หรือเกาหลีใต้ที่ใช้อินชอนเชื่อมโยงกับกรุงโซล เช่นเดียวกับโครงการอีอีซี ที่ใช้กรุงเทพฯเชื่อมการพัฒนาออกไปยังจังหวัดรอบ ๆ เพื่อให้เมืองต่างจังหวัดเติบโตไปด้วย อีอีซีจึงเป็นฐานของการสร้างเทคโนโลยี ฐานของการสะสมการลงทุน
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาโครงการอีอีซีทั้งหมด มั่นใจได้ว่าอีอีซีจะทำให้โครงสร้างการลงทุนของไทยเปลี่ยนไปและทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 4.5-5% โดยมีเงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท โดยภายในต้นปี 61 ทั้ง 5 โครงการที่สำคัญลำดับต้นจะมีความคืบหน้าเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้แน่นอน ทั้งสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นเมืองการบินภาคตะวันออกรองรับระบบนักท่องเที่ยวสูงสุด 30 ล้านคน มีมูลค่าการลงทุนมากถึง 2 แสนล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 10,150 ล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 88,000 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง 1.58 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ มีมูลค่า 64,300 ล้านบาท
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์