นครนายก เฮใช้ผังเมืองเดิมปี 55ปิดทางตั้งคอนโดฯ-รง.ก่อมลพิษ
ชาวนครนายกร้องคัดค้านแก้ไขผังเมืองสำเร็จ บอร์ดผังเมืองมีมติให้กลับไปใช้ผังเมืองรวมปี'55 ฉบับเดิม ชี้ไม่ต้องการโรงงานอุตสาหกรรม-หมู่บ้านจัดสรร-คอนโดฯ หวั่นชุมชนแออัดเกิดปัญหามลพิษ เน้นรักษาพื้นที่การเกษตร อนุรักษ์ธรรมชาติแหล่งต้นน้ำ
นายโกมล จำนงค์ผล นักวิเคราะห์ผังเมืองชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดนครนายก เปิดเผยว่า ผังเมืองรวมจังหวัดนครนายกประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 และเมื่อประกาศแล้วได้มีการแก้ไขข้อกำหนดในบางประเด็น ซึ่งเมื่อแก้ไขแล้วได้มีการติดประกาศให้ประชาชนได้ตรวจดู และยื่นคำร้อง เป็นระยะเวลา 90 วัน
ในช่วงที่ปิดประกาศ มีผู้มายื่นคำร้องขอแก้ไข โดยให้กลับไปใช้กฎหมายผังเมืองรวมฉบับเดิม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการผังเมืองเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 มีมติให้ยกเลิกร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก โดยให้กลับไปใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2555 ฉบับเดิม
"ประเด็นหลักที่ผู้มายื่นคำร้องไม่ต้องการให้แก้ไขผังเมือง เนื่องจากไม่ต้องการให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จึงมีคำร้องให้ยกเลิกฉบับที่แก้ไข และไปใช้ฉบับเดิม โดยเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการผังเมืองพิจารณาให้ยกเลิกผังฉบับที่แก้ไขบางรายการนี้ เนื่องจากขณะนี้ มีการเตรียมการดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก เพื่อมา ใช้ฉบับใหม่ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ใน ขั้นตอนของการดำเนินการ"
ด้านนายสุธี รัตนมงคลกุล ตัวแทนเครือข่ายผังเมืองจังหวัดนครนายก กล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการผังเมืองระดับชาติได้พิจารณาเห็นชอบตามภาคประชาชน คือ ไม่มีการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก พ.ศ.2555 และกลับไปใช้ผังเมืองฉบับเดิม โดยสิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เนื่องจากมีการแก้บางประเด็น เช่น แก้ไขให้สามารถสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร มีการแนบท้ายอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งทำให้กังวลว่าจังหวัดนครนายกจะกลายเป็นแหล่งของอุตสาหกรรม และสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขเส้นทางน้ำระยะ 6 เมตรตามลำน้ำต่าง ๆ ให้สามารถมีสิ่งปลูกสร้างอาศัยได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการกีดขวางทางน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ขณะเดียวกันยังจะมีการแก้ไขสัดส่วนการเป็นที่อยู่อาศัย ด้วยการลดพื้นที่ว่างต่อพื้นที่ใช้งานลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโดมิเนียมขึ้นได้ และเมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น จะทำให้กลายเป็นสถานที่แออัด ส่งผลให้เกิดมลพิษ ทั้งน้ำเสีย รถติด และปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ซึ่งจังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประกอบกับถนนต่าง ๆ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นที่พักอาศัย โดยเหมาะแก่การเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและแก้มลิงมากกว่า จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีบ้านเรือนหนาแน่น
"ด้วยศักยภาพพื้นที่ที่มีป่า เขา ลำน้ำ ลำธาร น้ำตก แม่น้ำ ที่ราบลุ่ม และมีสวน ไร่ นา ภาครัฐจะต้องมากำหนดแนวทาง และร่วมกับชาวบ้านว่าจะพัฒนาไปทางไหน ซึ่งควรจะออกไปทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การเกษตร การอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ซึ่งผังเมืองเดิมไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาพื้นที่ ถ้าหากพัฒนาให้สมกับศักยภาพของพื้นที่ที่มีอยู่ จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะไปแก้ไขให้มีการพัฒนาที่ผิดจากสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชน"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ