ส่อโละประมูลเขตศก.รอบ2
Loading

ส่อโละประมูลเขตศก.รอบ2

วันที่ : 29 มิถุนายน 2560
ส่อโละประมูลเขตศก.รอบ2

กรมธนารักษ์เล็งปรับทีโออาร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ "หนองคาย-มุกดาหาร" ใหม่ ก่อนเปิดประมูลรอบ 3 หลังรอบ 2 แป้ก เผยมีแค่ "บ.พันปี กรุ๊ป" ยื่นรายเดียว เล็งใส่สิทธิเว้นค่าเช่าฯ 1-2 ปี

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงการประมูลโครงการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารในรอบที่ 2 ว่า หากประมูลในรอบที่ 2 นี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทางกรมธนารักษ์จะมีการทบทวนทีโออาร์อีกครั้ง และจะเปิดประมูลใหม่ เพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป

แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการเปิดซองในวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีนักลงทุนสนใจยื่นซองประมูลพื้นที่ละ 1 ราย และยังเป็นเอกชนรายเดียวกันด้วย คือ บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย, ลาว, กัมพูชา) จำกัด ซึ่งหลังจากเปิดซองจะใช้เวลาอีก 30 วัน ในการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว หากไม่น่าสนใจ จะต้องทำการรื้อทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลใหม่ต่อไป

"อาจจะต้องปรับทีโออาร์กันใหม่ โดยเอาพื้นที่มาจัดสรรเปิดให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่เข้ามามีบทบาทลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยอาจจะผลักดันให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของเอสเอ็มอี เพราะรายใหญ่ไม่สนใจ ไม่มีใครเข้ามายื่นซอง ซึ่งผู้ที่จะเป็นตัวประสานงานหลักก็อาจจะให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือจังหวัดเข้ามาช่วย" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ในการเปิดประมูลรอบที่ 2 ทางกรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงทั้งการแก้ไขให้ ผู้ลงทุนต้องมีประสบการณ์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การค้า/การลงทุน/โลจิสติกส์/บริการ หรือภาคการผลิต (อุตสาหกรรมทั่วไป/นิคมอุตสาหกรรม) การปรับเพิ่มระยะเวลาจัดทำข้อเสนอโครงการลงทุนจากเดิม 60 วัน เป็น 90 วัน และปรับ Business Model ให้ใช้ราคา ค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรแบบ Unit Replace

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากปรับทีโออาร์ใหม่ รอบนี้คงจะนำมาตรการสิทธิประโยชน์ที่กำหนดใหม่เข้าไปใส่ไว้ด้วย เพื่อเพิ่มแรงจูงใจแก่นักลงทุน คือ นักลงทุนที่ประมูลได้ หากเริ่มมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10% ของมูลค่าโครงการภายในปี 2560 จะได้รับยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี หรือหากลงทุนภายในปี 2561 ได้รับยกเว้นค่าเช่า 1 ปี

"มาตรการยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุเพิ่งเพิ่มเติมมาใหม่ ซึ่งทีโออาร์เดิม ไม่ครอบคลุมตรงนี้ โดยหากเพิ่มเข้าไปก็อาจจะจูงใจรายใหญ่ให้สนใจเข้ามาลงทุนได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ก็จะต้องเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์กับฝั่งประเทศเพื่อนบ้านด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดจะปรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เป็นแหล่งพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะผู้ประกอบการในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม

"เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอาจจะต้องเปลี่ยนแนวคิด เพราะแนวคิดเดิมเราคิดว่าไปส่งเสริมจะเกิดผลดีให้ชายแดนเจริญเติบโตขึ้น ขณะเดียวกันสามารถใช้แรงงานของประเทศเพื่อนบ้านมาทำได้ แต่ว่าบริษัทต่าง ๆ เขาคิดว่า ถ้าย้ายตัวเองไปอยู่ชายแดน การขนส่งก็ไม่คุ้ม เพราะต้องขนมาขายอีกที" นายอภิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลผลักดันการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้มากกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ