'เอสซีจี'ผนึกเวียดนาม ผุด'ปิโตรฯคอมเพล็กซ์'
เอสซีจี ผนึก ปิโตรเวียดนาม ผุดปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ แห่งแรกในเวียดนาม มูลค่าลงทุน 1.88 แสนล้าน กำลังการผลิตเอทิลีน 1 ล้านตันต่อปี ใช้เงินกู้ สกุลต่างประเทศ และเงินทุนสัดส่วน 60% ต่อ 40% คาดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครึ่งปีแรกของปี 65 ปิดตำนาน เจรจาโครงการยาวนานถึง 9 ปี นับจากปี 2551
เวียดนาม ถือเป็นฐานการลงทุนใหญ่ ในอาเซียน ของเครือซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี ใกล้เคียงกับฐานการผลิตในอินโดนีเซีย โดยปัจจุบัน เอสซีจีได้ลงทุนในเวียดนามครบ ทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง ธุรกิจซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง ล่าสุดได้อนุมัติดำเนินการลงทุนปิโตรเคมีครบวงจร มูลค่าลงทุนสูงถึง 1.88 แสนล้านบาท ถือเป็นโครงการที่เจรจายาวนานถึง 9 ปีนับจากปี 2551โดยมีทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น สัดส่วนหุ้น จนบรรลุข้อตกลง ในยุค นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ล่าสุด บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วานนี้ (14 ก.ค.) ว่า บริษัทวีนา เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้อนุมัติการดำเนินการลงทุนโครงการ ของ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) และจะจัดทำหนังสือแจ้งผู้ชนะการประกวดราคา (Letter of Award) ให้กับผู้รับเหมาหลักในวันที่ 14 ก.ค. คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างผู้รับเหมาแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ (Turnkey) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง และจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
โครงการของ LSP ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 188,000 ล้านบาท โดยจะมีโครงสร้างทางการเงิน ประกอบด้วย เงินกู้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign denominated debt) และเงินทุนในอัตราส่วน 60:40 โดยค่าใช้จ่ายลงทุนจะทยอยจ่ายไปตลอดช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการ
ทั้งนี้เอสซีจีถือหุ้นทางอ้อมใน LSP 71% (โดยบริษัทวีนา เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด 53% และบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) 18%) ในขณะที่ Vietnam Oil and Gas Group (PetroVietnam) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ของรัฐบาลเวียดนาม ถือหุ้น 29%
ปิโตรฯคอมเพล็กซ์แห่งแรกเวียดนาม
LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของประเทศเวียดนาม มีความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการเชื่อมโยงจากโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นถึงขั้นปลายครบวงจร มีความประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และสามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างยืดหยุ่น
นอกจากนี้ LSP ยังมีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจการ เช่น ท่าเรือน้ำลึก และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด
ยืดหยุ่นใช้วัตถุดิบก๊าซ-แนฟทา
จุดเด่นของโครงการนี้คือการมีโรงงานผลิตเอทิลีน ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตันต่อปี ที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยสามารถเลือกใช้ก๊าซร่วมกับแนฟทาเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อการผลิตโอเลฟินส์รวมกันได้สูงถึง1.6 ล้านตันต่อปี
สำหรับเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตของ LSP ถือเป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่ได้รับการยอมรับ ส่วนวัตถุดิบจะประกอบด้วย ก๊าซอีเทนจากแหล่งภายในประเทศเวียดนาม ก๊าซโพรเพนและวัตถุดิบแนฟทาจากการนำเข้าภายใต้สัญญาซื้อขายวัตถุดิบในราคาตลาดที่แข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้โรงงานมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเลือกใช้ก๊าซเพื่อบริหารต้นทุนได้สูงสุดถึงร้อยละ 80 ของวัตถุดิบทั้งหมด
การผลิตโพลิโอเลฟินส์ในขั้นปลายซึ่งประกอบด้วยโรงงาน High Density Polyethylene (HDPE), Linear Low Density Polyethylene (LLDPE) และ Polypropylene (PP) จะมีกำลังการผลิตโดยรวมใกล้เคียงกับ โรงงานโอเลฟินส์
ผลิตทดแทนนำเข้าในประเทศ
ทั้งนี้ โรงงานปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์นี้ จะตั้งอยู่ที่เกาะ Long Son ในจังหวัด Ba Ria - Vung Tau ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม โอยู่ใกล้กับตลาดเวียดนามทางตอนใต้ ห่างจากนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นตลาดหลักและเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามเพียง 100 กิโลเมตร
โดยในปี 2558 ประเทศเวียดนามนำเข้าผลิตภัณฑ์โพลิโอเลฟินส์ประมาณ 2.3 ล้านตัน และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ดีในอนาคต ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนตาม วิสัยทัศน์ของเอสซีจีในการสร้างความยั่งยืนด้านคุณภาพชีวิตให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในภูมิภาคอาเซียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ดังกล่าว เดิมอยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมทุนระหว่าง เอสซีจี ถือหุ้น 28 % และไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์18% ที่เหลือเป็นการถือหุ้นของกาตาร์ปิโตรเลียมอินเตอร์แนชั่นแนล (คิวพีไอ) ปิโตรเวียดนาม และวีนาเคม มูลค่าลงทุน 4,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาทในปี 2555 กำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.4 ล้านตันต่อปี
และมีสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ท่าเรือ คลังสินค้า และโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ( Downstream) ที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึง โพลิเอททิลีน (PE) โพลิโพรไพลีน (PP) และไวนิลคลอไรด์ โมโนเมอร์ (VCM) ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เหล่านี้จะป้อนตลาดในประเทศเวียดนาม
แต่ภายหลัง กาตาร์ปิโตรเลียมอินเตอร์แนชั่นแนล แต่ถอนการร่วมทุนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากได้ปรับนโยบายการลงทุน และเห็นว่าการร่วมทุนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ