'ระเบียงเศรษฐกิจ' อีอีซี ต่อเฟส 2
รศ.มานพ พงศทัต ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์
"Eastern Economic Corridor" หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็น MEGA กลยุทธ์ของรัฐบาล ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการพัฒนาประเทศด้านการกำหนดพื้นที่เพื่อ การพัฒนา โดยที่ผ่านมามักจะกำหนดกลยุทธ์ด้านการกำหนดตัวผลิตภัณฑ์ หรือประเภทธุรกิจ เช่น กระตุ้นการพัฒนาเกษตร พัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น
วิธีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก ที่มี Potential แล้วนำเศรษฐกิจมาประสาน น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง การจะเพิ่มพูนศักยภาพพื้นที่ก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เสียก่อน เหมือนจะสร้างบ้านก็ต้องมีถนน ประปา ไฟฟ้า แล้วจึงจะพัฒนา
การพัฒนา Eastern Economic Corridor ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนี้ นักผังเมืองจะเรียกว่าเป็น "Sub-Regional Plan" คือการวางแผน และผังระดับอนุภาค ที่มีหลายจังหวัดในกลุ่มเดียวกัน ผสมผสาน จะสูงกว่าระดับพัฒนาจังหวัด แต่ก็ไม่ครอบคลุมทั้งภาคตะวันออก ซึ่งมีอีกหลายจังหวัดที่มีพื้นฐานต่างกัน และอยู่ห่างกันยากแก่การร้อยเข้าหากันด้วยวิสัยทัศน์ แต่ก็ต้องคิดเป็นระบบรวมไว้ล่วงหน้า
Eastern Economic Corridor ก็จะเน้น Major Infrastructures ต่อเชื่อม 5 จังหวัดด้วยระบบราง ระบบถนน ระบบขนส่งทางน้ำทะเล (มาบตาพุด) และระบบทางอากาศ คือ "อู่ตะเภา" เชื่อม 5 จังหวัดที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี บางพระ พัทยา มาบตาพุด ระยอง มีฐานเศรษฐกิจคือ อุตสาหกรรมผลิต-พลังงาน การเกษตร ท่องเที่ยว มีขนส่งทางบก น้ำ อากาศ ต่อเชื่อมจากประเทศสู่นอกประเทศ
แต่การจะกำหนดกลยุทธ์ที่สำคัญ และดียิ่งเช่นนี้ควรจะคิดให้ไกลกว่าแค่ระเบียง 5 จังหวัดเท่านั้น ต้องมองไปถึง Regional Network ต่างประเทศ และยังมีอีก 2 จังหวัดที่น้อยใจ ถูกทอดทิ้ง คือ ตะวันออกสุดชายแดน จันทบุรี ตราด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความต่อเนื่องและเข้มแข็งไม่แพ้ 5 จังหวัด โดยจันทบุรี เป็นเกษตรชั้นดี เหมือนระยอง เช่นเดียวกับตราดก็เป็นเมืองค้าขายชายแดน มีอุตสาหกรรมประมง ท่องเที่ยวแข็งแรง จะเป็นไปได้ไหมที่ Eastern Economic Corridor จะใจกว้าง คิดออกไปสักนิด เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจนี้เข้ากับจันทบุรี ตาก จะพยายามออกไปสู่ท่าเรือสำคัญสุด ปลายแหลมอินโดจีนของเขมร คือต่อเชื่อมท่าเรือน้ำลึกเป็นเฟส 2
ไทยก็จะเป็น HUB ของ AEC และ CLMV ชัดเจนขึ้นและพยายามต่อเฟส 2 สู่ทวายให้ชัด อย่าลืมต่อเชื่อมจีนทางเหนือผ่านสระบุรี (HUB ใหม่ของรถไฟ) ออกเชียงใหม่ เชียงราย หรือหนองคาย คือเมืองชายแดน
ฝาก Eastern Economic Corridor ช่วยคิดด้วย แม้จะกว้างจะไกลก็ไม่เลวร้าย ที่จะกล้าคิดนอกกรอบ MEGA Project อีกสัก 5-10 ปี มีอีกหลาย Sub-Regional ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ภาคเหนือ Gate Way สู่จีน หรือแม่โขง Basin หรือ SSB ต่อเชื่อม 2 ทะเล เป็นต้น ให้กำลังใจคมนาคม และรถไฟไทย และคสช. อดทนทำงานให้ชาติให้มากกว่านี้อีกนิด แต่ก็ต้องอย่าลืมคุยกับประชาชนมากๆ ด้วย
ไทยจะเป็น HUB ของ AEC และ CLMV ชัดเจนขึ้นและพยายามต่อเฟส 2 สู่ทวาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ