ลงทุน10เขตศก.พิเศษพุ่งกว่า3หมื่นล.
ก่อสร้างยื่นจดทะเบียนสูงสุด "สงขลา"เนื้อหอม
กรุงเทพธุรกิจ "พาณิชย์" เผยยอด จดทะเบียนธุรกิจ 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังพุ่งต่อ ปิดตัวเลขรวมถึง ก.ค.60 กว่า 3.11 หมื่นล้านบาท ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ยังมาแรงอันดับ 1 รวมทุนจดทะเบียน 2.37 พันล้านบาท ขณะที่การลงทุนต่างชาติพบมาเลเซียแห่ลงทุนสูงสุด เขตพื้นที่สงขลายังเนื้อหอม
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า แนวโน้ม การจดทะเบียนธุรกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามประกาศคณะกรรมการ กนพ. ที่ 1/2558 และ 2/2558 ซึ่งประกอบไปด้วย ระยะที่ 1 จ.ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา และระยะที่ 2 ได้แก่ หนองคาย นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยจากการตรวจสอบสถิติในเดือน ก.ค.2560 พบว่ามีมูลค่าการลงทุนของเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมมูลค่ากว่า 3.11 หมื่นล้านบาท
โดยธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป เป็นธุรกิจที่เอกชนยื่นขอจดทะเบียนทำธุรกิจสูงสุด มีจำนวนรวมในพื้นที่ 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งสิ้น 863 ราย ภายใต้ทุนจดทะเบียนรวม 2.37 พันล้านบาท อีกทั้งยังพบว่าเขตจังหวัดที่มีการลงทุนสูงสุด คือสงขลา โดยมีเอกชนยื่นคำขอลงทุนธุรกิจรวม 437 ราย มีทุน จดทะเบียน 5,407.96 ล้านบาท รองลงมาคือหนองคาย มีเอกชนยื่นคำขอลงทุนธุรกิจรวม 1,086 ราย มีทุนจดทะเบียน 5,231.31 ล้านบาท และอันดับสาม คือ ตาก มีเอกชนยื่น คำขอลงทุนธุรกิจรวม 1,339 ราย มีทุน จดทะเบียน 4,906.42 ล้านบาท
"ภาพรวมการลงทุนในพื้นที่เขต เศรษฐกิจพิเศษยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกิจโครงสร้าง พื้นฐาน เนื่องจากการลงทุนในพื้นที่จำเป็นต้องจัดเตรียมพื้นก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อรองรับการลงทุนในกิจกรรมต่างๆ ที่จะ ตามมาในภายหลัง เช่น การเตรียมพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานและโรงงาน รวมถึงก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ดังนั้น จึงดึงดูดให้ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างอาคารจำนวนมากเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เป็นถือเป็นสำคัญที่ก่อให้เกิดการเริ่มต้นขยายการลงทุนสู่ธุรกิจประเภทอื่น"
นางสาวบรรจงจิตต์ ยังกล่าวว่า การลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง ยังพบว่า มีการลงทุนของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน และ สหรัฐ โดยสัญชาติที่มีการลงทุนสูงที่สุดคือ มาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนคือ ธุรกิจการจ่ายก๊าซเชื้อเพลิง ขายรถจักรยานยนต์ และธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของชาวมาเลเซียคือตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของทั้งสองจังหวัดซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากมาเลเซีย
นอกจากนี้ กรมยังได้จัดทำการวิเคราะห์ภาพรวมเอกชนลงทุนธุรกิจในกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก และสมุทรปราการ) เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีเอกชนลงทุนสูงสุด โดยมีรายได้ รวม 4.1 ล้านล้านบาท จากการเป็นฐานผลิตรถยนต์ ขายปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ยานยนต์ และผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ รองลงมาคือกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) มีรายได้ 3.7 ล้านล้านบาท จากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล