อีอีซี...ดันที่ดินกรมบังคับคดีพุ่ง
โครงการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้น เศรษฐกิจของประเทศให้ได้ และส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่นั้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามไปด้วย
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2560 กรมสามารถผลักดันสินทรัพย์ได้ 3.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าไตรมาส 3 ช่วงเดียวกันของปีก่อน 52% หรือรวมทั้ง 9 เดือนของปี งบประมาณมียอดผลักดันสินทรัพย์ได้ 9.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 95.6% ของเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงกว่าสูงที่สุดในรอบ 7 ปี
ทั้งนี้ กรมสามารถผลักดันสินทรัพย์หรือการประมูลขายทอดตลาดสินทรัพย์ในพื้นที่อีอีซีจังหวัดภาคตะวันออก โดยไตรมาส 3 สามารถผลักดันสินทรัพย์ได้สูงกว่าไตรมาสแรก 32.74% และสูงกว่า ไตรมาส 2 ประมาณ 62.62% โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี มียอดขายถึง 1,306 ล้านบาท จ.ระยอง มียอดขาย 1,058 ล้านบาท และ จ.ฉะเชิงเทรา มียอดขาย 482 ล้านบาท
น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า ผลดังกล่าวทำให้ กรมสามารถผลักดันสินทรัพย์หรือการประมูลขายทอดตลาดสินทรัพย์ในจังหวัด เขตเศรษฐกิจพิเศษได้สูงกว่าไตรมาสแรก 66% และสูงกว่าไตรมาส 2 ประมาณ 26% ซึ่งจังหวัดที่มียอดขายโดดเด่น ได้แก่ จ.สระแก้ว 55 ล้านบาท จ.สงขลา 775 ล้านบาท จ.ตราด 83 ล้านบาท จ.หนองคาย 98 ล้านบาท จ.มุกดาหาร 38 ล้านบาท และ จ.ตาก 58 ล้านบาท
"ภาพรวมการประมูลซื้อสินทรัพย์จากกรมบังคัคดียังมีมาต่อเนื่อง สะท้อนว่า ภาวะเศรษฐกิจยังดี ยังมีกำลังซื้อ และมีกลุ่มผู้สนใจเข้ามาประมูลซื้อจำนวนมากขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่และผู้ที่มีเงินออมจะหันมาลงทุนในซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไว้เพื่อการลงทุน ในช่วงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงราคาประมูลได้ก็ สูงกว่าประเมินโดยเฉลี่ย 15%" น.ส. รื่นวดี กล่าว
นอกจากนี้ กรมได้ปรับปรุงจัดกลุ่มสินทรัพย์ประเภทที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ละเอียดมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ที่สนใจจะซื้อ โดยแบ่งออกเป็น 6 ประเภท บ้านที่พัก อาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮาส์ อาคารโรงงาน สำนักงาน โกดัง อื่นๆ เช่น โรงแรม รวมถึงกำหนดโจทก์จะต้องนำภาพถ่ายภาพที่ทันสมัยอายุไม่เกิน 6 เดือน เพื่อนมาประกอบในการพิจารณาประมูลขายทอดตลาดด้วย
ปัจจุบันกรมบังคับคดีมีสินทรัพย์ รอการขายรวม 1.32 รายการ รวมราคา ประเมิน 2.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ห้องชุด 4.98 ล้านบาท คิดเป็น 22.62% ที่ดินเปล่า 8.42 ล้านบาท คิดเป็น 38.32% และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 8.63 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 39.15% ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์รอการขายมากที่สุด ในประเทศและมียอดการขายสินทรัพย์รอการขายปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท คิดเป็น 30% ของมูลค่าตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์