แห่ขึ้นคอนโดฯพรึบ หนีผังเมืองนนท์ใหม่
นนทบุรีเร่งคลอดผังเมืองใหม่เข้มถอดแบบกทม. พื้นที่ขายลดฮวบ เอฟเออาร์สูงสุด 8 เท่า จากเดิม 10 เท่า ปลายสิงหาคมนี้ เปิดรับฟังความคิดเห็นหลังผังเก่าหมดอายุมานาน เปิดช่องดีเวลอปเปอร์แห่ผุดโครงการจนล้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เนื่องจากผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีฉบับใหม่ นำค่าเอฟเออาร์ (สัดส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน) มาบังคับใช้ เช่นเดียวกับผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานคร ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งลงทุนดักหน้า โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนราชพฤกษ์ สะพานพระราม 4 เพราะเกรงว่าหากประกาศใช้ผังเมืองรวมใหม่ ที่ดินที่มีอยู่ในมือจะพัฒนาพื้นที่ขายได้น้อยลง เทียบกับผังเดิมที่หมดอายุไปเมื่อปี 2555 สามารถพัฒนาได้สูงสุดทุกพื้นที่ 10 เท่าของแปลงที่ดิน และยิ่งเกิดความล่าช้าในการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ ยิ่งทำให้กระแสทุนไหลบ่าเข้าจังหวัดนนทบุรีจนแออัด
สำหรับเหตุผลที่ต้องนำผังเมืองกทม.มาเป็นต้นแบบเกิดจาก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักหลบเลี่ยงผังเมืองกทม. มาลงทุนที่นนทบุรี จนเกิดการร้องเรียนว่า พื้นที่เกษตรกำลังจะหมดไป เพราะโครงการบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม สำหรับการยกร่างข้อกำหนดผังเมืองนนทบุรีฉบับใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการ
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันนนทบุรียังไม่มีผังเมืองมาควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ท้องถิ่นได้ออกข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคารโดยล้อไปตามกฎหมายควบคุมอาคารและผังเมืองเดิม
แหล่งข่าวจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ร่างผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีจะประกาศรับฟังความคิดเห็นประชาชนประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2560 และจะบังคับใช้ประมาณกลางปี 2561 อย่างไรก็ดี ความล่าช้าเกิดจากอิทธิพลคนในพื้นที่จำนวนหนึ่ง อาทิ อบต. ภาคเอกชน ไม่เห็นด้วยกับการนำข้อกำหนดผังเมืองของกทม.มาใช้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ นอกจากนี้ อบจ.ต้องนับหนึ่งในการจัดทำผังร่างใหม่ ทั้งที่บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการไปกว่า 10% แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินจากกรมโยธาธิการและผังเมือง
"ยอมรับว่าผังเมืองนนทบุรีฉบับใหม่จะเข้มเหมือนผังกทม.โดยให้เอฟเออาร์ได้สูงสุดเพียง 8 ต่อ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่สีน้ำตาล ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และพื้นที่สีแดง ประเภทพาณิชยกรรม บริเวณถนนสายสำคัญ และติดสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง เช่น ถนนงามวงศ์วาน ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสะพานพระนั่งเกล้า รวมทั้งบริเวณรถ ไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนบริเวณสถานีบาง ไผ่กำหนดเอฟเออาร์ 5 ต่อ 1-6 ต่อ 1 เนื่องจากเป็นพื้นที่สีส้ม ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง"
นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีขาดอายุมานาน ส่งผลให้ใครเลือกที่จะพัฒนาบริเวณไหนก็สามารถกระทำได้ อีกทั้งที่ดิน ราคาถูกกว่าพื้นที่อื่น จึงเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้า ซึ่งบริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยฯ ระบุว่า มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นมากกว่า 20,000 หน่วย ทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลาย เพราะทุกพื้นที่สร้างได้ 10 ต่อ 1 ตามกฎหมายควบคุมอาคาร