รัฐเร่งแผนพัฒนาท่าเรือรับเปิดอีอีซี
Loading

รัฐเร่งแผนพัฒนาท่าเรือรับเปิดอีอีซี

วันที่ : 7 สิงหาคม 2560
รัฐเร่งแผนพัฒนาท่าเรือรับเปิดอีอีซี
"รัฐเร่งแผนพัฒนาท่าเรือรับเปิดอีอีซี

คมนาคมกางแผนพัฒนาท่าเรือรองรับอีอีซี เร่งโครงการท่าเรือปากน้ำปราณบุรี เชื่อมเสม็ด

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยระหว่างตรวจเยี่ยมพื้นที่ท่าเรือ จุกเสม็ด ว่า กระทรวงคมนาคมต้องการผลักดันให้ท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ท่าเรือพาณิชย์ดำเนินธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศและส่งเสริมการ ท่องเที่ยว ต่อยอดการพัฒนาบุคลากรตลอดจนวางระบบบริหารการจัดการที่ทันสมัย เนื่องจากท่าเรือเป็นหนึ่งในโครงสร้าง พื้นฐานส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี

สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือดังกล่าว ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ 2.โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับเรือเฟอร์รี่ พื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตร 3.โครงการปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือ ท่าเรือจุกเสม็ด 4.โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณเกาะจระเข้ เพื่อรองรับการให้บริการเรือสินค้าขนาดใหญ่ให้สามารถเข้า-ออกได้ 5.โครงการศึกษา สำรวจ และออกแบบวางผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งด้านความมั่นคงและด้านการส่งเสริมโครงการการขนส่งของภาครัฐ 6.โครงการปรับปรุง ท่าเทียบเรือน้ำมัน (ท่า POL) รองรับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) 7.โครงการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ 8.โครงการปรับปรุงพื้นที่ให้เชื่อมโยงกับทุกระบบการขนส่ง ทั้งทางถนน ทางราง และอากาศ เพื่อรองรับการเป็นโลจิสติกส์ฮับในภาคตะวันออก และ 9.โครงการจัดหาเครื่องมือและเครื่อง ทุ่นแรงสำหรับกระจายสินค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรมเจ้าท่าเตรียมอนุญาตให้เอกชนเปิดเดินเรือเฟอร์รี่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางท่าเรือจุกเสม็ด-เกาะช้าง-ท่าเรือคลองใหญ่ ก.ย.นี้ นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนเปิดเส้นทางเรือเฟอร์รี่ช่วงท่าเรือจุกเสม็ด-ท่าเรือปากน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกด้วย

นายพิชิต กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือปากน้ำปราณบุรี ขณะที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ รวมทั้งจะเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณารูปแบบการลงทุนว่ารัฐจะลงทุนเอง 100% หรือเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน

อย่างไรก็ตาม หากใช้แนวทางร่วมทุนประมูลโครงการแบบพีพีพี คาดว่าจะสามารถดำเนินการจ้างเอกชนและก่อสร้างอย่างรวดเร็วเพราะเป็นโครงการขนาดกลางที่วงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ