รัฐปั้นบ้านฉางโมเดลรับอีอีซี ต้นแบบเมืองเชิงนิเวศน่าอยู่
Loading

รัฐปั้นบ้านฉางโมเดลรับอีอีซี ต้นแบบเมืองเชิงนิเวศน่าอยู่

วันที่ : 5 สิงหาคม 2560
รัฐปั้นบ้านฉางโมเดลรับอีอีซี ต้นแบบเมืองเชิงนิเวศน่าอยู่

ทีมเศรษฐกิจ

การพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้น ณ พื้นที่ใด ปัญหาที่จะตามมานั่นก็คือ มลพิษ และของเสียมากมายที่ปล่อยออกมา ส่งผล กระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่โดยรอบ แถมยังสะเทือนไปถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ จนทำให้ภาครัฐเองต้องหาวิธีแก้ไข เพื่อไม่ให้โครงการมากมายต้องหยุดชะงัก

ยิ่งตอนนี้รัฐบาลเองกำลังมีโครงการใหญ่อย่าง "โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี" ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งแน่นอนว่า หากดันทุรังโครงการต่อไป โดยที่ไม่มองเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง ก็อาจทำให้อภิมหาโครงการที่รัฐบาลพยายามปั้น และใส่เงินลงทุนไปอย่างมหาศาลก็จำต้องพับแผนไปแบบไม่มีวันฟื้นคืนมาได้อีก

บ้านฉางโมเดลรับอีอีซี

ด้วยสาเหตุที่ว่ามาทั้งหมดนั้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดการ "พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" หรืออีโค นิว ทาวน์ โดยแรกเริ่มจะนำร่องในพื้นที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่แรกของภาคตะวันออก พร้อมกับยกแนวคิดการพัฒนาครั้งนี้ให้เป็น "บ้านฉางโมเดล" สอดรับกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่โครงการอีอีซี ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกื้อหนุนกับชุมชนเดิมที่อยู่โดยรอบ

สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาภายใต้แนวคิด "การพัฒนาเมืองใหม่เชิงนิเวศ" หรือเมืองน่าอยู่ ขึ้นมารองรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมกันให้เกิดความสมดุล มีแผนงานพัฒนาจากพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม หรือส่งเสริมการตั้งโรงงานในเขตอุตสาหกรรม โดยรวมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดห่วงโซ่การผลิต หรือซัพพลายเชน ซึ่งมีความคุ้มค่าในการจัดหาระบบสาธารณูปโภคและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมส่วนกลางแบบครบวงจร ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

พัฒนาเมืองรับเติบโต

สำหรับเมืองใหม่เชิงนิเวศ หรือ "บ้านฉางโมเดล" นั้น จากการสำรวจข้อมูล พบว่า พื้นที่บริเวณนี้ สามารถเป็นเมืองที่รองรับการเจริญทั้งจากอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว บริการ เกษตรกรรม และชุมชน ของจังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีแนวทางการพัฒนา คือ การออกแบบและพัฒนาเมืองที่ดีเพื่อรองรับการเจริญเติบโต โดยมองโอกาสทางธุรกิจจากการที่มีคนมาอาศัยในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เป็น กรอบในการวางฐานการพัฒนาและจัดระเบียบสังคมเพื่อให้คนมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันได้แบ่งโซนและจัดทำแนวป้องกันที่ชัดเจนระหว่างเขตอุตสาหกรรม ชุมชน หรือชุมชนใหม่ ขณะเดียวกันจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันมิให้มลพิษส่งผล กระทบต่อชุมชนโดยรอบ และยังต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเกื้อกูลรายได้ระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนซึ่งกันและกันด้วย

จุดเด่นมาก-พื้นที่เหมาะ

ส่วนจุดเด่นของ "บ้านฉางโมเดล" เดิมทีเป็นพื้นที่ที่เคยใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม และเป็นพื้นที่ว่างเปล่า มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ โดยจะพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งธุรกิจและการพักอาศัยตั้งอยู่ในเขตจังหวัดระยองรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย และมีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 หรือมอเตอร์เวย์ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเทียบเรือน้ำลึกมาบตาพุด และโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก

ปรับพื้นที่แยกสัดส่วน

ทั้งนี้การจัดเตรียมบ้านฉางโมเดล จะมีการแบ่งโซนการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน โดยองค์ประกอบ ประกอบด้วย การเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งแบ่งเป็นโซนพื้นที่ที่อยู่อาศัย ทั้ง อาคารพักอาศัยหนาแน่นมาก อาคารพักอาศัยหนาแน่นปานกลาง อาคารพักอาศัยหนาแน่นน้อย ที่มีการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรองรับผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ เช่นเดียวกับมีพื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก คือ สถาบันการศึกษา สถานพยาบาล พาณิชยกรรมและศูนย์วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ราชการ สนามกีฬา และอ่างเก็บน้ำ

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่คมนาคมขนส่งอัจฉริยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รถยนต์ จักรยาน มีพื้นที่สีเขียว อย่างเช่น สวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนที่อยู่รอบ ๆ อีกทั้งยังมีพื้นที่สนับ สนุนงานวิจัยและพัฒนา สำหรับอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในจังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียง และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

ลุ้นบอร์ดอีอีซีไฟเขียว

"อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์"  รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขยายความว่า แผนการพัฒนาดังกล่าว กรมฯ ได้เตรียมรายละเอียดไว้เป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม เชิงนิเวศ ซึ่งจะเริ่มทำตั้งแต่ปี 61-64 เพื่อพัฒนา 18 พื้นที่ ใน 15 จังหวัด ให้เป็นเมืองใหม่เชิงนิเวศ ซึ่งการนำร่องที่บ้านฉางโมเดลก่อนนั้น นับว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม คาดว่าตามแผน น่าจะรวบรวมเรื่องเสนอไปให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอีอีซี ที่มี รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้อนุมัติในอีกไม่นานนี้

ดังนั้นหากโครงการนี้ผ่านการเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็คงเริ่มงานได้ เพราะที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมเคยเสนอแผนงานนี้ไปให้กับ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจดูแล้ว และได้สั่งการให้เดินหน้าลุยทันที

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ