ปั้น'อุดรธานี'ศูนย์โลจิสติกส์ ปักธงนิคมฯแห่งแรกในอีสาน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดคลินิกเอสเอ็มอี สัญจรแนวประชารัฐที่จังหวัดอุดรธานีว่า จากลักษณะภูมิศาสตร์อุดรธานีที่เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการค้าชายแดนและมีศักยภาพพร้อมไปด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญบนระเบียงเศรษฐกิจ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเป็นจังหวัดที่ห่างจากด่านศุลกากรจังหวัดหนองคายเพียง 53 กม. อีกทั้งยังใกล้กับแนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง สปป. ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทางR8 (จากจังหวัดอุดรธานี-หนองคาย-จุดข้ามแดนด่านหนองคาย-ปากซันของลาว) รวมทั้งยังอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟความเร็วสูง (Highspeed Train) กรุงเทพฯ-หนองคาย- เชื่อมต่อไปยังลาวและจีน พร้อมที่จะรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศใกล้เคียง โดยเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกของด่านศุลกากรหนองคายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 2560 ที่มีมูลค่าสินค้าส่งออกอยู่ที่ 26,642 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกผ่านด่านชายแดนไทย-ลาวทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับด่านการค้าชายแดนไทย-ลาวทุกด่าน ซึ่งจากจุดเด่นดังกล่าว รัฐบาลจึงได้กำหนดบทบาทให้อุดรธานีเป็นศูนย์กระจายสินค้า เชื่อมต่อการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญในกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
จากศักยภาพของอุดรธานีที่โดด เด่นดังกล่าว การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงได้ร่วมกับบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีในบริเวณตำบลโนนสูง และตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง ซึ่งนับเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่ 2,200 ไร่ มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย และศูนย์ Logistics ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงมีแนวคิดจัดทำศูนย์ ICD (In land Container Depot) ในพื้นที่นิคมฯ ทั้งนี้บริษัทได้จัดสรรพื้นที่บางส่วนเพื่อรองรับผู้ประกอบการ SMEs ในรูปแบบ Standard Factory และ Co-Working Space, Experts Pool, Knowledge Center และ Network Creation โดยคาดว่าจะสามารถเปิด ดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 และในอนาคตเมื่อเปิดดำเนินการแล้ว นิคมอุตสาห- กรรมอุดรธานีจะเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญเพื่อส่งออกไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และจีน โดยผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ด้วย