'อุตตม'ใช้โมเดลบุฟเฟต์จับคู่ไทย-ญี่ปุ่น 500บริษัทลงทุน'อีอีซี'สสปน.จัดสัมมนาหนุนเซ็น'ยูนิโด'ดันอุตฯ4.0
Loading

'อุตตม'ใช้โมเดลบุฟเฟต์จับคู่ไทย-ญี่ปุ่น 500บริษัทลงทุน'อีอีซี'สสปน.จัดสัมมนาหนุนเซ็น'ยูนิโด'ดันอุตฯ4.0

วันที่ : 5 กันยายน 2560
'อุตตม'ใช้โมเดลบุฟเฟต์จับคู่ไทย-ญี่ปุ่น 500บริษัทลงทุน'อีอีซี'สสปน.จัดสัมมนาหนุนเซ็น'ยูนิโด'ดันอุตฯ4.0

สสปน.เปิดแผนรุกตลาดไมซ์ปี'61 หนุนหัวเมืองหลัก จัดสัมมนา-งานแสดงสินค้า เพิ่ม จนท.ประจำพื้นที่ นำร่องเชียงใหม่-พัทยา ร่วมส่งเสริมพัฒนา'อีอีซี' ไทยบินร่วมถกรัฐมนตรี ศก.อาเซียน

สสปน.ดันตลาดไมซ์หัวเมืองหลัก

เมื่อวันที่ 4 กันยายน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2561 สสปน.วางกลยุทธ์ไว้ 4 แนวทางหลัก และหนึ่งในนั้น คือ การพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ภูมิภาคภายในประเทศให้แข็งแกร่ง เติบโตยิ่งขึ้น ด้วยการสนับสนุนจังหวัดที่มีศักยภาพในการจัดงานประชุมสัมมนาต่างๆ เช่น สงขลา เชียงราย อุดรธานี การส่งเสริมโครงการประชุมระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนี้ยังวางบทบาทเชิงรุกในการประสานงานกับภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันเศรษฐกิจภูมิภาค ได้แก่ หอการค้า ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการยกระดับงานจัดแสดงสินค้า ซึ่งปกติเป็นการซื้อขายสินค้าธรรมดา ให้เป็นเทรดโชว์ระดับธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี) เช่น งานผ้าไหมภาคอีสาน งานฮาลาลหาดใหญ่ เป็นต้น

หนุนจัดสัมมนาพื้นที่'อีอีซี'

"ความพยายามจากนี้ก็เพื่อต้องการให้สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลในการสร้างงานที่เป็นเอกลักษณ์ตามนโยบายซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่พยายามผลักดันเมืองต่างๆ ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ สสปน.เตรียมเพิ่มตำแหน่งใหม่ในหน่วยงาน คือ ผู้จัดการประจำพื้นที่ มีหน้าที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์และวางแผนเชิงกลยุทธ์ เพื่อผลักดันตลาดไมซ์ในท้องถิ่นโดยเฉพาะ ระยะแรกจะแต่งตั้งให้ไปประจำที่เชียงใหม่และพัทยาก่อน เพราะพัทยาถือเป็นเมืองที่สามารถช่วยสานต่อการส่งเสริมการจัดสัมมนา งานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรม ภายในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจไมซ์ปี 2561 เราตั้งเป้านักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งหมด 30.1 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.74 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.19 ล้านคน สร้างรายได้ 1.12 แสนล้านบาท ส่วนตลาดในประเทศมีจำนวน 29 ล้านคน สร้างรายได้ 6.2 หมื่นล้านบาท" นายจิรุตถ์กล่าว

รูปแบบ'บุฟเฟต์'ดึง500บ.ยุ่นลงทุน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้ากระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) พร้อมกับสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (ไคดันเรน) จะนำนักธุรกิจญี่ปุ่นทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีกว่า 500 บริษัท มาเยือนไทยระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ เพื่อพบปะนักลงทุนไทยเพื่อจับคู่ธุรกิจขยายความร่วมมือการลงทุนในอีอีซี ว่า รายละเอียดของการพบปะจะเป็นรูปแบบบุฟเฟต์ คือหน่วยงานของไทยจะจัดบูธเพื่อให้ข้อมูลลงทุนด้านต่างๆ และจะให้นักลงทุนญี่ปุ่นกระจายพบปะกับหน่วยงานรัฐและนักลงทุนไทย ล่าสุดมีนักลงทุนญี่ปุ่นลงทะเบียนยืนยันแล้ว 200-300 บริษัท แต่คาดว่าวันที่ 5 กันยายน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก

"เอกชนฝ่ายญี่ปุ่นกว่า 80% จะเป็นรายใหม่ที่ยังไม่เคยมาลงทุนในไทย ส่วนบริษัทที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วก็จะลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่เคยลงทุนในไทยมาก่อน อาทิ อายิโนะโมะโต๊ะลงทุนเทคโนโลยีอาหารขั้นสูง ฮิตาชิลงทุนบิ๊กดาต้า นอกจากนี้ จะมีการลงทุนจากมิตซูบิชิ มิตซุย เป็นต้น การที่กระทรวงเมติพา 500 นักลงทุนเยือนไทยครั้งนี้ น่าจะถือว่าจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน" นายอุตตมกล่าว

ลงนามความร่วมมือ7ฉบับ

นายอุตตมกล่าวว่า ในงานดังกล่าวจะมีการลงนามความร่วมมือประมาณ 6-7 ฉบับ อาทิ ความร่วมมือระหว่างไคดันเรน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ความร่วมมือระหว่างอีอีซีกับองค์การ ความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ความร่วมมือระหว่างนักลงทุนที่สนใจลงทุนในอีอีซี ความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ความร่วมมือในการพัฒนา ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (อีอีซี)

นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ได้เป็นประธานการลงนามร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนิโด) และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในการยกระดับประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยได้มอบหมายให้สำนักงานอีอีซีไปจัดตั้งทีมทำงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพิจารณาโครงการความร่วมมือ 4 ด้านได้แก่ 1. อุตสาหกรรม 4.0 2.การพัฒนาอีอีซี 3.การยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และ 4.เทคโนโลยีและดิจิทัล โดยให้ตั้งทีมภายใน 3 เดือน

นายลี ยง ผู้อำนวยการใหญ่ ยูนิโด กล่าวว่า ยูนิโดจะให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยเดินหน้านโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาด้านนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ เสริมสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยจะให้ความสำคัญด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง

ไทยร่วมเร่งรัดตกลงอาร์เซ็ป

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) ในระหว่างวันที่ 6-11 กันยายนนี้ ที่กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยร่วมประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อาเซียน +6 เพื่อเร่งรัดผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) สำหรับเป็นแรง ขับเคลื่อนสำคัญในช่วงเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ยังไม่สามารถตกลงกันได้

นางอภิรดีกล่าวว่า วาระหารือสำคัญจะเป็นเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าที่จะต้องลดภาษีนำเข้า สินค้า เหลือ 0% โดยจะหยิบยกประเด็นที่ยังติดขัดมาพูดคุย เพราะมีเป้าหมายร่วมกัน ให้แต่ละประเทศเสนอลดภาษีลงมาเหลือ 0% ใน รายการสินค้าไม่ต่ำกว่า 90% ของรายการสินค้า ทั้งหมดภายใน 15 ปี แต่ขณะนี้หลายประเทศ ยังเสนอรายการสินค้าที่จะลดภาษีลงมาไม่ถึง 80% เนื่องจากบางประเทศยังไม่มีข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ระหว่างกัน ทั้งนี้จะเร่งรัดเจรจาให้สามารถสรุปผลทันการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ หากอาร์เซ็ปสามารถบรรลุข้อตกลงได้ จะถือเป็นเอฟทีเอขนาดใหญ่ ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากร 3,500 ล้านคน มูลค่าการค้ารวมของอาร์เซ็ปจำนวน 9.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29% ของมูลค่าการค้าโลก ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 5.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 31% ของมูลค่าส่งออกโลก

ไตรมาส2จ้างงานภาคเกษตรพุ่ง

ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการแถลงข่าวตัวเลขการจ้างไตรมาส 2 ปี 2560 โดยนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า การจ้างงานไตรมาส 2/2560 มีทั้งสิ้น 37.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคเกษตรกรรม รวม 11.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ปริมาณน้ำที่เข้าสู่สภาวะปกติ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกที่สูงขึ้น จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายกิจกรรมการเกษตรและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมรวม 25.9 ล้านคน ลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาที่ลดลง ได้แก่ สาขาการก่อสร้าง ลดลง 11.8% สาขาอุตสาหกรรม ลดลง 4.2% และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลง 2.7% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวช้า ประกอบกับมีการใช้หลักการบริหารจัดการแรงงานที่มีอยู่ รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต ก่อสร้าง และการให้บริการ ทำให้ ความต้องการใช้แรงงานลดลง สอดคล้องกับการสำรวจความต้องการแรงงานของกระทรวงแรงงาน ที่พบว่าความต้องการแรงงานด้านการผลิตต่างๆ ลดลงจาก 4,203 ตำแหน่งในปี 2557 เหลือเพียง 2,709 ตำแหน่งในช่วงกลางปี 2560

อุดมศึกษาแนวโน้มว่างงานเพิ่ม

นายปรเมธีกล่าวว่า สำหรับการว่างงานมี ทั้งสิ้น 4.7 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 1.1% โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนทรงตัวเท่ากับปีที่แล้ว ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 24.1% เนื่องจากเป็นช่วงจบการศึกษาและแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งกว่า 39% จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะมีการว่างงานสูงในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 และจะลดลงในไตรมาสที่ 4 ของทุกปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2556-2559 แรงงานกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเฉลี่ยว่างงานประมาณ 1.4 แสนคนในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 แสนคนในปี 2559 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 2.2 แสนคนในครึ่งปีแรก 2560 เนื่องจากปัญหาความไม่สอดคล้องของคุณสมบัติของแรงงาน และวุฒิการศึกษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งตลาดแรงงานยังรอการฟื้นตัวที่ชัดเจนของการลงทุนภาคเอกชน

จับตาราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัว

"ประเด็นด้านแรงงานที่ควรติดตามและให้ความสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 คือ ผลกระทบการจ้างงานและรายได้เกษตรกรจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลง และปัญหาอุทกภัย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เกษตรกรมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ราคาสินค้าเกษตรลดลงเฉลี่ย 4.2% และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ตามราคายางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ขณะที่ราคาข้าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก นอกจากนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในเดือนสิงหาคมและกันยายนอาจเกิดพายุที่มีโอกาสเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยตอนบน และจะทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งในเดือนดังกล่าวเป็นช่วงเพาะปลูกข้าวนาปี อาจส่งผลต่อกิจกรรมการทำการเกษตรและการจ้างงานภาคเกษตรได้" นายปรเมธีกล่าว

สคร.โต้คสช.มุ่งเป้าแปรรูปรสก.

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.... หรือร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 1 กันยายน จะเป็นการนำระบบธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) มาเป็นมาตรฐานในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้มีระบบชัดเจน ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐได้อย่างเต็มศักยภาพ การที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ ข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางแบบยกเข่ง สคร. โดยขอชี้แจงในแต่ละประเด็น ดังนี้

ปัดอำพรางขายหุ้นเอกชน

นายเอกนิติกล่าวว่า กรณี สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยจะนำรัฐวิสาหกิจ 11 แห่งที่มีสภาพเป็นบริษัทให้บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติเป็นผู้ครอบครองแทน และจะออกใบหุ้นให้กับกระทรวงการคลัง โดยมีฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบรรษัทฯ และในอนาคตจะเปิดให้เอกชนมาถือหุ้นแทน คือกระบวนการแปรรูปอำพรางใช่หรือไม่ ขอชี้แจงว่าร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่มีวัตถุประสงค์หลักในการปฏิรูปและยกระดับประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก การที่บรรษัทฯ ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแทนกระทรวงการคลัง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ อีกทั้งการให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของ บรรษัทฯ และหุ้นทุกหุ้นของบรรษัทฯจะโอนเปลี่ยนมือมิได้ ดังนั้นข้อวิจารณ์ดังกล่าว จึงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง

ยันรัฐวิสาหกิจจำเป็นปฏิรูป

การที่ระบุว่าหุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจจะถูกลดสัดส่วนลงไปเรื่อยๆ จนรัฐวิสาหกิจอาจหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้ นายเอกนิติชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจกำหนดให้กระทรวงการคลังเป็น ผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัทฯ และเมื่อกำหนด ให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นในรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทฯแล้ว ให้มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังใน รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัท (มหาชน) จำกัดใดใช้บังคับกับบรรษัทฯ ในการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้นด้วย อันมีผลทำให้บรรษัทฯเมื่อได้รับโอนหุ้นจากกระทรวงการคลังแล้วจำเป็นจะต้องเพิ่มทุน ก็ให้คงสัดส่วนตามที่มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ โดยจะไปลดทุนเองไม่ได้ ดังนั้นข้อวิจารณ์ที่ว่าหุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจจะถูกลดสัดส่วนไปเรื่อยๆ จึงไม่ถูกต้อง

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมี การปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจโดยยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ ด้วยการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้ สนช.พิจารณาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้

กทพ.จ่อปรับค่าทางด่วนปีหน้า

ที่กระทรวงคมนาคม มีการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางด่วนพิเศษอุดรรัถยา สายบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยภายหลังการประชุมนายสุทธิศักดิ์ วรรณวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน และรักษาการผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ในปี 2561 มีแนวโน้มว่า กทพ.อาจต้องปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษอุดรรัถยา สายบางปะอิน-ปากเกร็ด และทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ต้องปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี บนพื้นฐานอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) แต่จะสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้จริงหรือไม่นั้น อยู่ที่การคำนวณซีพีไอ โดยหากคำนวณแล้วไม่ถึง 5 บาทก็จะไม่ปรับ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ กทพ.ถือปฏิบัติทุกครั้งเมื่อจะพิจารณาขึ้นค่าผ่านทางทุกเส้นทาง

นายสุทธิศักดิ์กล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางทั้ง 2 เส้นจะดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2561 และหากผลการคำนวณเกิน 5 บาทก็จะปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ