เฟอร์นิเจอร์ 4.0 ชูนวัตกรรมออกแบบมัดใจลูกค้า
วราพงษ์ ป่านแก้ว / อรวรรณ จุรุวัฒนะถาวร
การแข่งขันด้านนวัตกรรมในยุคไทยแลนด์ 4.0 ของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง และวัสดุตกแต่งบ้านมีความเด่นชัดมากขึ้นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันของตัวสินค้าเองที่ผู้ผลิตต่างคิดค้นนวัตกรรม เพื่อมาตอบสนองการใช้งานของมนุษย์ให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น หรือแม้แต่ ธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งบ้านก็นำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานที่สนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่มากขึ้นเช่นกัน
มารวย ตั้งมิตรประชา กรรมการบริหาร บริษัท ดูโฮม เปิดเผยว่า ดูโฮมเป็นศูนย์ค้าส่งและค้าปลีกวัสดุบ้านที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% โดยปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการ 8 แห่ง และได้เริ่มใช้แพลตฟอร์มการให้บริการเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ เมื่อปี 2559 เพื่อจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นการขยายตลาดเนื่องจากมองเห็นโอกาสในธุรกิจ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดสาขาใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นประกอบกับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนหันมาซื้อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งปีที่แล้วมีผู้เข้ามาใช้บริการ 13 ล้านคน ส่วนปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 30 ล้านคน และแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอีก จึงมีการลงทุนพัฒนาระบบไอทีรองรับตลาดในอนาคต เนื่องจากการใช้ระบบคลาวด์จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วไม่มีปัญหาข้อมูลสูญหายแล้วยังสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านของโครงสร้างพื้นที่ฐาน (Infrastructure) ได้ถึง 40% ซึ่งเดิมอยู่ที่ 1.4-1.5 แสนบาท/เดือน ปัจจุบันอยู่ที่ 9 หมื่นบาท/เดือน
ดูโฮมมีการทำงาน 3 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบที่พัฒนาขึ้นภายใน (In-House-System) 2.ระบบดาต้าเซ็นเตอร์ และ 3.ระบบการทำงานบน SAP โดยทุกระบบทำงานบนเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กรแต่เมื่อมีการเริ่มต้นโครงการด้านอี-คอมเมิร์ซ ทางบริษัทเห็นว่าการใช้งานบนคราวด์เซิร์ฟเวอร์มีความคุ้มค่า (Cost-Efficient) มากกว่าเมื่อนำระบบทั้งหมดมาไว้บนคราวด์ สิ่งที่สำคัญคือทำให้บริษัทบริหารและให้บริการ โดยไม่จำเป็นต้องมีทีมเพื่อดูแลการทำงานอีกทั้งไม่ประสบปัญหาข้อมูลหาย และลดระยะเวลาในการเซตอัพระบบเมื่อเทียบกับการทำงานบนเซิร์ฟเวอร์ขององค์กร (On-Premise)
อย่างไรก็ดี บริษัทอยู่ระหว่างขยายระบบบริหารจัดการธุรกิจทั้งองค์กรผ่านระบบคลาวด์ของ อเมซอน เว็บเซอร์วิส (AWS) ซึ่งจะมีการนำระบบ SAP S/4 HANA มาใช้ เนื่องจากระบบอี-คอมเมิร์ซถือเป็นธุรกิจใหม่ จึงยังไม่สามารถระบุขนาดของเซิร์ฟเวอร์สำหรับรองการให้บริการในอนาคตได้ชัดเจน ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถรองรับการขยายระบบ เพื่อรองรับการทำงานที่เพิ่มขึ้นได้และมีความปลอดภัยสำหรับการทำธุรกิจบนออนไลน์ ซึ่งระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปลาย เดือน ก.ย.นี้ และเชื่อว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 30%
ในปีนี้คาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ ราว 2.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายได้ทางออนไลน์จะอยู่ราว 32 ล้านบาท และได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ออนไลน์เพิ่มเป็น 10% ในช่วง 2-3 ปีนี้ จากปัจจุบันมีอยู่เพียง 1% ของยอดขาย รายได้รวมบริษัท
ขณะที่ เอกลักษณ์ ปัทมสัตยาสนธิ รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 และรองรับผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ที่เฉพาะตัวมากขึ้น บริษัทจึงได้ขยายธุรกิจเฟอร์นิเจอร์บิวต์อินภายใต้แบรนด์ "ยูนีค" (YOUNIQUE) ด้วยเทคโนโลยีบิวต์อินอัจฉริยะ 4.0 ที่สามารถออกแบบเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ต่างๆ มาใช้ในการเพิ่มการพื้นที่ใช้สอยของห้องจากห้อง 35 ตารางเมตร (ตร.ม.) สามารถทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเทียบ 53 ตร.ม. ได้
บริษัทได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการออกแบบให้บ้านหรือคอนโดมิเนียมไม่มีพื้นที่ที่เปล่าประโยชน์ เพราะราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นในขณะที่พื้นที่กลับเล็กลง จึงต้องใช้ประโยชน์ทุกพื้นที่ให้คุ้มค่า นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหา ลดขั้นตอน และลดค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าที่ต้องการทำเฟอร์นิเจอร์บิวต์อิน โดยสามารถออกแบบและดีไซน์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ 100% ในราคาที่ถูกกว่าตลาดประมาณ 20% จากการใช้เทคโนโลยีในการลดต้นทุนการผลิต
ทั้งนี้ บริการของเพอร์ซันแนลดีไซเนอร์ของยูนีค ทำให้ลูกค้าสามารถปรับแบบ ขนาด และราคาได้ตามใจชอบโดยที่ไม่จำกัดจำนวนครั้ง กับดีไซน์หลากหลายทั้งสีและสไตล์รวมกว่าล้านรูปแบบ และด้วยระบบเทคโนโลยี 4.0 ที่ทันสมัย เมื่อเสร็จการออกแบบในแต่ละครั้งลูกค้าสามารถทราบราคาได้รวดเร็วทันใจภายใน 1 นาที ซึ่งต่างจากบิวต์อินทั่วไปที่จำกัดการปรับแบบได้ไม่เกิน 3 ครั้ง และใช้เวลา 1-2 วัน ในการนำเสนอราคา เพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุดในแบบที่ถูกใจลูกค้าที่สุด
ขณะที่การผลิตจะเป็นสมาร์ทเทคโนโลยี เพราะใช้ระบบเทคโนโลยีบิวต์อินอัจฉริยะในการสั่งงานเครื่องจักรให้ตัดไม้เหลือเศษน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้แรงงานคนในการผลิตน้อยลง จนทำให้สามารถประหยัดต้นทุนในการผลิตนำมาซึ่งราคาที่ถูกลง ในขณะที่คุณภาพการผลิตได้มาตรฐานเท่าเดิม อีกทั้งลูกค้าสามารถใช้เทคโนโลยี 4.0 ในการเลือกชมห้องตัวอย่างได้ทั้งระบบ VR (Virtual Reality) หรือผ่านเว็บไซต์ www.indexlivingmall.com/younique/
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของยูนีคจะเป็น ลูกค้าในคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม ลูกค้าช่วงอายุ 25-40 ปี ระดับพรีเมียมแมส (Premium Mass) ที่ต้องการใช้พื้นที่ตั้งแต่ 22 ตร.ม.ขึ้นไป โดยราคาเริ่มต้นขึ้นอยู่กับความ ต้องการเฟอร์นิเจอร์บิวต์อินของลูกค้า ซึ่งสามรถเริ่มที่ราคา 5 หมื่นบาท หรือ 7-9 หมื่นบาท ตามความต้องการของลูกค้า ขณะที่ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 แสนบาท ในปี 2561 หลังจากขยายสาขายูนีคได้ครบ 28 สาขา คาดว่าจะมียอดขายที่ 800 ล้านบาท และใน 3 ปี คาดว่าจะมียอดขาย 3,000 ล้านบาท
การแข่งขันด้วยนวัตกรรมต่างๆ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ดีที่สุด ในราคาที่สามารถจ่ายได้ไม่ยาก