ผุด101ระบบขนส่ง3แสนล.รองรับเขตศก.อีอีซี-ดันจีดีพีพุ่งขึ้น4.9%
Loading

ผุด101ระบบขนส่ง3แสนล.รองรับเขตศก.อีอีซี-ดันจีดีพีพุ่งขึ้น4.9%

วันที่ : 7 กันยายน 2560
ผุด101ระบบขนส่ง3แสนล.รองรับเขตศก.อีอีซี-ดันจีดีพีพุ่งขึ้น4.9%

คมนาคมทุ่ม 3.4 แสนล้าน ผุด 101 โครงข่ายระบบขนส่งรองรับเขต ศก.อีอีซีใน 7 จังหวัดภาคตะวันออก มั่นใจดันจีดีพีประเทศโต 4.9% และลดต้นทุนโลจิสติกส์เกือบ 3% ยังไม่รวมรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง อีก 2.19 แสนล้าน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานการนำเสนอผลงานและรับฟังความคิดเห็น ต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคตซูเปอร์ คลัสเตอร์ (Super Cluster) และประตูการค้าสำคัญของประเทศเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ว่า รัฐบาล กำลังเร่งส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ดังนั้น สนข.จึงได้ศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ซูเปอร์คลัสเตอร์ และสระแก้ว จันทบุรี ตราด ซึ่งเป็นประตูการค้าสำคัญในชายฝั่งทะเลตะวันออก

เบื้องต้นมีแผนพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Side) และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ (Soft Side) จำนวนรวม 101 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 342,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560-2564

โครงการที่จะดำเนินการจะมีทั้งการขยายโครงการเดิม ลงทุนโครงการใหม่ การลงทุนส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 7 กับท่าเรือแหลมฉบัง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่รวมโครงการที่เปิดให้รัฐ เอกชนร่วมลงทุน (PPP) หรือโครงการที่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง เชื่อม 3 ท่าอากาศยาน วงเงิน 2.19 แสนล้านบาท, โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ของท่าอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท

"ประมาณกลางเดือนก.ย. สนข.จะนำเสนอรายงานการจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ฉบับสมบูรณ์ ให้คณะกรรมการบริหารอีอีซีพิจารณา จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอครม." นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ตามแผนดังกล่าวจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 4% ในปี 2564 และ 4.9% ในปี 2569 ส่วนจีดีพีพื้นที่ 3 จังหวัดใน EEC คาดว่าจะเติบโตทางเศรษฐกิจ 18% ในปี 2564 และ 40% ในปี 2569 นอกจากนี้ จะช่วยลดต้นทุน โลจิสติกส์ทางถนนได้ 2.67% และขนส่งทางราง 19.83% หรือทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ยลดลง 2.69% จาก 1,333.3 ล้านบาทต่อวัน เหลือ 1,297.4 ล้านบาทต่อวัน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.5% และรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น 4.6%

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ