ผ่าแผนพัฒนาแหล่งน้ำ... หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว
จังหวัดสระแก้ว เป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่คณะกรรมการนโยบายเขต พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้เห็นชอบกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม ในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอำเภออรัญประเทศ และอำเภอวัฒนานคร จำนวน 207,500 ไร่
การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว รัฐบาลมุ่งหวังที่จะเป็นประตูสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมความมั่นคงของประเทศได้ โดยจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร เครื่องมือเกษตร อาหาร พลาสติก และโลจิสติกส์ ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องเป็นหลัก อย่างไรก็ตามหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวกับการเกษตรก็คือ "น้ำ" จะต้องมีอย่างพอเพียง และจะต้องไม่ประสบภัยจากน้ำ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเรื่องน้ำของประเทศ วางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำบรรจุในแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศเพื่อจัดหา น้ำต้นทุนให้เพียงพอกับความต้องการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุลยั่งยืน ต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค ทั้งปัจจุบันและอนาคต และป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำเช่นกัน
กรมชลประทาน จึงได้จัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยพรมโหดและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เพื่อรองรับการจัดตั้ง "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว" ดังกล่าวขึ้นมา
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในการศึกษาแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าว พบว่า หากต้องการให้น้ำมีเพียงพอรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน จะต้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพทั้งการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำแห่งใหม่ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม การก่อสร้างอาคารควบคุมบังคับน้ำ ระบบกระจายน้ำ รวมถึงการผันน้ำมาจากลุ่มน้ำข้างเคียง และที่สำคัญจะต้องมีการกำหนด เป้าหมายปริมาณการจัดสรรน้ำแต่ละโครงการไว้อย่างชัดเจน เพื่อการเกษตรหรือการอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค หรือเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ได้การศึกษาไว้มีโครงการสำคัญๆ 18 โครงการ จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 62 ล้าน ลบ.ม. และยังมีปริมาณน้ำที่ผันจากพื้นที่ลุ่มน้ำใกล้เคียงอีกประมาณ 35 ล้าน ลบ.ม./ปี มีพื้นที่รับประโยชน์ด้านการเกษตรรวม 68,500 ไร่ โดยแยกเป็นโครงการจัดหาน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 โครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองพระปรง ซึ่งจะได้น้ำใช้ เพิ่มขึ้น 10 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี โดยกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง และโครงการวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระปรงสู่พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยการประปาส่วนภูมิภาคเป็นผู้ก่อสร้าง
นอกจากนี้ยังมีโครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 โครงการ ได้แก่ คลองผันน้ำหลากอ้อมเมืองอรัญประเทศ โครงการประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำปลายคลองพรมโหด และ โครงการพนังกั้นน้ำคลองพรมโหด ส่วนที่เหลือ 13 โครงการ เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการ เจริญเติบโตเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต แยกเป็นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 8 แห่ง ก่อสร้างฝาย 2 แห่ง เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 1 แห่ง และขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง โดยมีโครงการที่พร้อมจะดำเนินการได้ทันที 1 แห่ง คือโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออ อำเภอวัฒนานคร ความจุ 2.34 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานมีแผนก่อสร้างในปี พ.ศ. 2561
ในส่วนของโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและจัดหาน้ำพื้นที่เกษตร ประกอบด้วย โครงการประตูระบายน้ำบ้านคลองยาง ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร จะสามารถกักเก็บน้ำในลำน้ำได้ 629,000 ลบ.ม. โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองบัวเหนือ ปัจจุบัน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กของกรมชลประทานตั้งอยู่ที่ตำบลหันทราย อำเภออรัญประเทศ มีความจุประมาณ 400,000 ลบ.ม. จะพัฒนาให้เป็น อ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้สามารถ เก็บกักน้ำได้ 7.65 ล้าน ลบ.ม. โดย การจัดซื้อที่ดินหน้าอ่างฯประมาณ 1,000 ไร่ ขุดเป็นสระขนาดใหญ่ความลึกประมาณ 5 เมตร พร้อมทั้ง ปรับปรุงทางระบายน้ำล้นเดิม (spillway) ให้เป็นอาคารระบายน้ำล้น แบบประตูระบายน้ำ โดยจะดำเนินการพร้อมกันกับโครงการอ่างเก็บน้ำ บ้านหนองบัวเหนือ เนื่องจากอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันคือ ลุ่มน้ำพรมโหด สามารถบริหารจัดการน้ำร่วมกันได้
นอกจากนั้นยังมีโครงการเป็นโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย โครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองอรัญประเทศ และโครงการประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำปลายห้วยพรมโหด พร้อมพนังป้องกันน้ำท่วม โดยทั้งสองโครงการจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำห้วยพรมโหด โดยเฉพาะบริเวณชุมชนเมืองอรัญประเทศ และย่านการค้าชายแดนได้อย่างมีนัยสำคัญ
หากแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าวแล้วเสร็จทุกโครงการ "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว" จะมีน้ำอย่างพอเพียง และพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ข้างเคียงจะมีความอุดมสมบูรณ์ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม จะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน....ฟันธง!
"หากแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าวแล้วเสร็จทุกโครงการ"เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว" จะมีน้ำอย่างพอเพียง และพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ข้างเคียงจะมีความอุดมสมบูรณ์ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม จะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน"