ทัพญี่ปุ่นยันปักหมุดลงทุนอีอีซีเพิ่ม แจ๊คหม่าจ่อมาสิ้นปีลุยค้าออนไลน์
"อุตตม" ปลื้มญี่ปุ่นโปรยยาหอมไทยเตรียมยกทัพลงทุนเข้าไทยเพิ่มแน่หลังลงพื้นที่อีอีซีชื่นมื่น วางเป้าหมายการลงทุนในอีอีซี ปี 2561 ระดับแสนล้านบาทโดยญี่ปุ่นจะมีส่วนผลักดัน แย้ม "แจ๊คหม่า" จ่อบินมาไทย พ.ย.นี้ปักหมุดลงเสาเอก อีคอมเมิร์ซพาร์ค
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการนำหน่วยงานรัฐและคณะนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 ราย นำโดย นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) ลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก(อีอีซี) ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นต่างพอใจโดย นายเซโกะระบุว่าจะก่อให้เกิดการ ลงทุนจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นรายเดิมและรายใหม่ในไทยโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีเนื่องจากมองไทยเป็นประตูการค้าหรือเกตเวย์เชื่อมโยงการค้า การลงทุนสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ คาดว่าการ ลงทุนจริงในอีอีซีปี 2561 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท และญี่ปุ่นจะมีส่วนสำคัญต่อการลงทุนดังกล่าว
"ทางญี่ปุ่นพอใจที่ไทยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันกับญี่ปุ่นภายใต้กรอบการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ดังนั้น จึงมอบให้สำนักงานอีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนถึงแผนการลงทุน ในอุตสาหกรรมเป้าหมายระหว่างไทยและญี่ปุ่นเพื่อที่จะสานต่อให้เกิดเป็น รูปธรรม" นายอุตตมกล่าว
ทั้งนี้ ได้มอบให้จัดทำโรดแมป ร่วมกับญี่ปุ่นทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายอีอีซี และการพัฒนาบุคลากร ที่ญี่ปุ่นมองไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องดังกล่าวซึ่งจะสอดรับกับแนวทางการพัฒนา Connected Industries ส่วนกิจกรรมจับคู่ธุรกิจไทยกับญี่ปุ่นพบว่ามีหลายกิจการ เช่น บ.ณรงค์จับคู่กับไฟเทคประเทศญี่ปุ่นทำหุ่นยนต์สมองกล และจะมีการลงนามพื้นที่ต่อพื้นที่คือ จ.โตยามาที่ต้องการจับคู่กับไทยที่มีศักยภาพด้านการแพทย์ ฯลฯ
สำหรับความคืบการลงทุนอีคอมเมิร์ซ พาร์ค ของลาซาด้ากรุ๊ปขณะนี้ยังเป็นไปตามแผนที่จะมีการก่อสร้างภายใน สิ้นปีนี้โดยแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ อีอีซีได้ข้อสรุปรายละเอียดหมดแล้ว อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบอย่างทางการว่าแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบาจะเดินทางมาไทย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานอีอีซีกล่าวว่า คาดว่าแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา จะเดินทางมาหารือที่ประเทศไทยด้วยตัวเองช่วงเดือนพ.ย.นี้ถึงโครงการอีคอมเมิร์ซพาร์ค ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่าอีอีซีมีนักลงทุนสนใจต่อเนื่องและสิ้นปีนี้คาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 5-6 หมื่นล้านบาทและ 5 ปีจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าบริษัท แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินและยุทโธปกรณ์ของฝรั่งเศส ที่อยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน และโบอิ้งของสหรัฐฯ ที่กำลังวิเคราะห์รายละเอียดโครงการลงทุนศูนย์ฝึกบุคลากรด้าน การบินร่วมกับไทย คาดจะมีการลงนามสัญญาร่วมทุนภายในไตรมาสแรก 2561
นอกจากนี้ ยังประสานความ ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการชักชวนให้เกิดการลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม (ดิจิทัลพาร์ค) ในอีอีซี คาดจะมีทั้งบริษัทไมโครซอฟท์ อเมซอนดอทคอม ไอบีเอ็ม คาเลสติก้า พร้อมลงนามความร่วมมือกันภายในเดือนก.ย.นี้ "พ.ร.บ.อีอีซีขณะนี้จ่อรอเข้า ครม.อยู่แล้วคาดว่าจะเข้าครม.ได้สัปดาห์หน้า และหลังจากนั้นจะเร่งเข้าสภาฯ ทันที" นายคณิศกล่าว
นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) กล่าวว่า มั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยในการลงทุนและขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีของไทยที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีโดยพื้นที่อีอีซีจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมด้วยดิจิทัลและเป็นห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มที่สำคัญที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจ
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาดบริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.อีอีซีประกาศใช้ภายในปีนี้จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนได้มากขึ้น โดยญี่ปุ่นเดินทางมาครั้งนี้ก็สนใจที่จะลงทุนใน นิคมฯ ของอมตะประมาณ 10 ราย โดยอมตะได้เสนอไปยังการนิคม อุตสาหกรรมฯ (กนอ.) ที่จะนำพื้นที่ ในนิคมอมตะนครและอมตะซิตี้รวม 2,500 ไร่ ขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ