ดัน6แผนบูมเศรษฐกิจ ภาคกลาง เชื่อมอีอีซี
นายกฯนำครม.สัญจรภาคกลาง ลงพื้นที่สุพรรณ – อยุธยา นั่งหัวโต๊ะหารือภาคเอกชน – ผู้ว่าราชการจังหวัด 16 จังหวัดภาคกลาง วันนี้ ชู 6 ยุทธศาสตร์ดันภาคกลางเป็นมหานครทันสมัย – ฐานเชื่อมโยงทวาย – อีอีซี เอกชนดันพัฒนาเมืองนิเวศน์ทันสมัย โครงการป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ-เขตเศรษฐกิจ เชื่อมระบบรางอยุธยา-พื้นที่อีอีซี หนุนพัฒนาท่องเที่ยวระดับโลก
หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) นำทีมประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับฟังปัญหาและอนุมัติโครงการลงทุนในพื้นที่ ล่าสุดครม.จัดประชุมครม.สัญจร ในพื้นที่ในพื้นที่ภาคกลาง โดยเตรียมอนุมัติยุทธศาสตร์ภาคกลางเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสองฝั่งทะเลระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย ในเมียนมาและท่าเรือภาคตะวันออกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคกลาง และประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 18 – 19 ก.ย.นี้ โดยในวันที่ 18 ก.ย.นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคกลาง ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อมอบนโยบาย รับฟังการนำเสนอทิศทางการพัฒนาภาคกลาง และรับฟังโครงการสำคัญที่ภาคเอกชนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจรในวันที่ 19 ก.ย.นี้
"การลงพื้นที่ทั้งจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อพบปะประชาชนและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ติดตามประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และทิศทางการพัฒนาของภาคกลาง พร้อมทั้งโครงการตามแผนบูรณาการการส่งเสริมความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ" พันเอกหญิงทักษดา กล่าว
สำหรับการประชุมครม. ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้ ครม.มีวาระพิจารณาแผนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาภาคกลาง เพื่อเร่งรัดโครงการต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ ในรอบเวลาที่กำหนดคือ พัฒนาภาคกลางสู่มหานครทันสมัย และเป็นฐานการเชื่อมโยงประเทศไทยสู่เส้นทางขนส่งสองฝั่งทะเลระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาและท่าเรือภาคตะวันออกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ดัน6ยุทธศาสตร์ภาคกลาง
โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนากรุงเทพฯ เป็นมหานครทันสมัยระดับโลกควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง 2. พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและสร้างความเชื่อมโยงเพื่อกระจายการท่องเที่ยวทั่วทั้งภาค 3. ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 4. บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และคงความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน 5. เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย – ภาคกลาง – ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และ 6. พัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภาคเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าพื้นที่ภาคกลางมีพื้นที่มากถึง 40.5 ล้านไร่ คิดเป็น 21.6% ของประเทศ ประกอบด้วย 16 จังหวัด มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาภาคกลางสูงมาก ทั้งในการเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรของประเทศ เป็นฐานอุตสาหกรรมส่งออกและแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย และมีแรงงานนอกภาคเกษตรมีระดับการศึกษาและประสิทธิภาพแรงงานสูงกว่าภาคอื่นๆ ประชากรในภาคกลางมีรายได้ต่อหัวที่ 278,782 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 203,350 บาทต่อปี
เพิ่มขีดแข่งขัน-พัฒนาระบบน้ำ
ทั้งนี้จากการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้สรุปข้อเสนอในการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางเพื่อให้ภาครัฐพิจารณาสนับสนุนหลายโครงการ เช่น การสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ โดยเสนอให้สร้างฐานข้อมูลน้ำภาคอุตสาหกรรม เพื่อการบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีบินสำรวจทางธรณีฟิสิกส์และไลดาร์ (ดูทิศทางการไหลของน้ำ-แหล่งน้ำใต้ดิน-แหล่งน้ำผิวดิน) และเพิ่มพื้นที่สำรองน้ำหลากในพื้นที่ภาคกลางให้เป็น 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ในภาคการผลิต พัฒนาสังคมผู้ประกอบการแบบบูรณาการ และเร่งรัดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดกาญจนบุรีที่จะเชื่อมโยงกับเมียนมา
เอกชนจี้รัฐส่งเสริมรง.เชิงนิเวศ
ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเสนอให้พัฒนาอาชีวะศึกษาเพื่อเตรียมแรงงานที่มีทักษะรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในภาคกลาง โดยเสนอให้มีการส่งเสริมโรงงานเชิงนิเวศ Eco Factory/Green Industry สนับสนุนท้องถิ่นบำบัดน้ำเสียชุมชน/ขยะชุมชน การปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มเติมระบบโลจิสติกส์โดย การสร้างโครงข่ายถนนเพิ่มเติมเพื่อลดความแออัดทางการจราจรจากภาคเหนือ โดยเสนอขอให้สร้างเส้นทางคู่ขนานกับทางหลวงหมายเลข 32 ซึ่งมีปริมาณการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ซึ่งอาจพิจารณาสร้างความเชื่อมโยงกับเส้นทางหลวงหมายเลข 311 และ 3196 เพื่อลดเวลาในการเดินทางสัญจร และสร้างความเชื่อมโยงธุรกิจกับชุมชน
หอฯอยุธยาเสนอรัฐแก้น้ำท่วม
ด้านนายเกรียงไกร ด่านชัยวิจิตรประธานหอการค้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าภาคเอกชนในจังหวัดอยุธยาจะเสนอประเด็นสำคัญให้รัฐบาลสนับสนุนได้แก่โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและโรงงานอุตสาหกรรม โดยถือเป็นโครงการสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมในอยุธยากว่า 2,400 โรงงาน และมีการจ้างแรงงานกว่า 3.5 แสนคน
ส่วนการเชื่อมโยงพื้นที่การผลิตของอุตสาหกรรมในอยุธยากับพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีรัฐบาลกำลังส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมในพื้นที่ทั้งสองพื้นที่จะหารือกับรัฐบาลในการเร่งรัดโครงการเชื่อมโยงด้วยรถไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงซึ่งเส้นทางในอนาคตจะขยายจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ไปถึงนิคมอุตสาหกรรมนวนครซึ่งมีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปถึงชุมทางบ้านภาชีที่เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกทม.-โคราช ซึ่งหากมีการวางแผนการเชื่อมโยงพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งสองพื้นที่ให้ชัดเจนก็จะสามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น
ชงอยุธยาแหล่งท่องเที่ยวโลก
สำหรับการท่องเที่ยวภาคเอกชนได้เสนอแผนที่จะพัฒนาให้อยุธยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่มีความนิยมมากขึ้น ตามที่คณะกรรมการสานพลังประชารัฐได้เสนอโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอยุธยาตามแนวทางการพัฒนาเมืองเกียวโตประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตามแผนจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 8,000 – 10,000 ล้านบาท